
![]() |
วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า 31 มี.ค. 60 คำประกาศเกียรติคุณ วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า โดยพลเอก จรัล กุลละวณิชย์ วันศุกร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๐๐ น. ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ _________________________
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุลาลัย เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ ทรงพระนามตามพระสกุลยศว่า “หม่อมเจ้าทับ” และปรากฏพระบรมราชสัญลักษณ์ “ทับ” สืบมาถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๓๔๙ ได้ทรงดำรงพระอิสริยศเป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทับ” พ.ศ. ๒๓๕๖ พระชันษา ๒๖ ปี ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ทรงกำกับราชการ ๕ เรื่อง คือ กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ การว่าความฎีกา และ รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย ทรงจัดเรือสำเภาไปค้าขาย และถวายรายได้จากการนี้ ให้แผ่นดิน จนได้รับพระราชทานขานพระนามว่า “เจ้าสัว” หมายถึง “พ่อค้าผู้มั่งคั่ง” เมื่อต้นรัชกาลของสมเด็จพระบรมชนกนารถ ได้ทรงเป็นผู้แก้ไขปัญหาราชการแผ่นดินให้สงบเรียบร้อยโดยฉับไว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ ได้พระราชทานพระราชโอวาทานุสาสน์ว่า “ทรงตั้งพระทัยจะรักษาแผ่นดิน และพระบวรพุทธศาสนาไว้ ด้วยพระทัยจะให้อยู่เย็นเป็นสุข สิ้นด้วยกันฉันสุจริต” ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ซื่อตรงต่อแผ่นดิน เป็นแบบอย่างในการ “ออม” ที่เรียกว่า “ออมเพื่อชาติ” ด้วยเมื่อทรงนำรายได้จากการค้าสำเภาทูลเกล้าฯถวาย พระราชบิดาเพื่อบำรุงแผ่นดินในรัชกาลที่ ๒ แล้วนั้น ครั้นเมื่อทรงปกครองประเทศก็ทรงเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้ในถุงแดง มีพระราชปรารภว่า “เพื่อไว้ไถ่บ้าน ไถ่เมือง” สิ้นรัชกาลได้เงินออมถึง ๔๐,๐๐๐ ชั่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ รศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เงินออมเพื่อชาติในถุงแดงนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาแลกกับอธิปไตย เมื่อฝรั่งเศสส่งกองเรือรบมาปิดอ่าวไทย จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยทรงกำกับพระคลังมหาสมบัติ ทรงเป็นผู้ริเริ่มจัดหา “เงินคงคลัง” เป็นทุนสำรองของชาติเป็นต้นแบบ “ธนาคารชาติ” มาเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว พระปรีชาสามารถด้านการพาณิชย์ส่งผลให้เศรษฐกิจชาติมั่นคงเป็นปึกแผ่น ใน พ.ศ. ๒๕๕๑ ชาวไทยจึงถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการค้าไทย” ความหมายของ “พระมหาเจษฎาราชเจ้า” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถวายไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๐หมายความว่า “ผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกิจต่อชาติและประชาชน” ซึ่งประจักษ์ได้จากทรงจารึกสรรพตำราต่าง ๆ โดยเฉพาะตำรายาแพทย์แผนไทยไว้ที่ผนังศาลารายเมื่อบรูณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในพุทธศักราช ๒๓๗๔ เพื่อเป็นประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ได้เรียนรู้ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าสรรพตำราทั้งหลายเป็นมรดกความทรงจำโลก และพุทธศักราช ๒๕๕๘ ทางราชการและประชาชนน้อมถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” เพราะโปรดเกล้าฯ ให้นำตำรายาอันเป็นที่หวงแหนครั้งกระนั้น ออกเผยแพร่สู่ประชาชน พระเกียรติคุณทั้งหลายที่กล่าวมาล้วนแสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการศึกษา ส่วนในด้านการทหารนั้น ก็ยังได้ประจักษ์ว่า หน่วยงานของกองทัพเรือ ณ ค่ายแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้เฉลิมพระเกียรติพระองค์ว่า “ทรงเป็นพระบิดาแห่งนาวิกโยธิน” ปวงข้าพระพุทธเจ้าน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ ตั้งสัจจาธิษฐาน ตั้งมั่นประกอบคุณความดีโดยสุจริต ให้บังเกิดคุณประโยชน์ มีผลดีงามแก่ชาติบ้านเมืองนับสืบเนื่องจากวาระอันเป็นมงคลนี้ตลอดไป.
|