ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




เงินถุงแดง

          มีคนพูดถึง “เงินถุงแดง” กันมาก และเนื่องในวโรกาส ๒๐๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐) เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ ทางราชกาลได้ดำเนินการให้ก่อตั้งมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้น ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิ เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ และใน พ.ศ.๒๕๔๔ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ ในการนี้ได้จัดทำเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหาเจษฎาราชเจ้าขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสนำไปบูชาด้านหลังของเหรียญนี้ทำเป็นรูป ถุงแดง” อยู่ทุกเหรียญ

 

          เงินสะสม ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ มีผู้กล่าวว่าพระองค์ท่านทรงมีพระ “วิสัยทัศน์” ไว้ตั้งแต่ครั้งกระโน้นว่า “เงินนี้ลูกหลานจะได้เก็บไว้ใช้กู้บ้านกู้เมือง” ซึ่งต่อมาได้ปรากฏเป็นความจริงว่าได้ใช้แก้ปัญหาเป็นเงินชดใช้แก่ฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) สมัยที่สยามเป็นเหยื่อของลัทธิอาณานิคม และทำให้หลุดพ้นมาได้ จนธำรงเอกราชมาถึงปัจจุบัน

         

          เมื่อใกล้จะสวรรคตปรากฏว่ามีบันทึกเกี่ยวกับพระราชดำรัสที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่อีกคือ

          ๑. “การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว” 

          และอีกพระราชดำรัสหนึ่งกล่าวว่า

          ๒. “เงินที่เหลืออยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่งนี้ ขอสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่งเถิดให้ไว้บำรุงวัดวาที่ยังค้างอยู่”

          แท้ที่จริงเงินถุงแดงนี้ ในรัชกาลต่อๆ มาก็คงจะลืมไปแล้วว่าอยู่ที่ไหน มีเท่าไร เหลือเท่าไร เก็บอย่างไร

          ข้อความต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่รวบรวมจากเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับ เงินถุงแดง” เพื่อจะได้พอทราบและเข้าใจกัน หากมีข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติม ขอได้โปรดแจ้งให้มูลนิธิฯ ทราบ เพื่อจะได้ประมวลให้ชนรุ่นหลังได้ทราบต่อไปด้วย

          เงินถุงแดง คือ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ได้จากการค้าสำเภาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้ารัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเก็บหอมรอมริบไว้เป็นส่วนพระองค์โดยเก็บใส่ ถุงผ้าสีแดง” ไว้ข้างที่ (ข้างพระแท่นที่บรรทม) เรียกว่า “เงินข้างที่” ซึ่งต่อมามีจำนวนมากเข้า ก็เก็บไว้ในห้องข้างๆ ที่บรรทม จึงเรียกว่า “คลังข้างที่” และดูเหมือนจะเป็นคำเรียกกันแต่ในราชสำนักมาจนสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงเรียกปรากฏกันเป็นทางราชการและต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จึงตั้ง กรมพระคลังข้างที่ ขึ้น

เงินถุงแดง ได้มาจากไหน

          การค้าขายกับต่างประเทศของไทยแต่โบราณมา เท่าที่อ่านจากเอกสารต่างๆ ทราบว่า มีเป้าหมายใหญ่อยู่ที่เมืองจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีประวัติว่าค้าขายกับโปรตุเกส ฮอลันดา สเปน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย อาหรับ ฝรั่งเศส ฯลฯ การค้าขายกับต่างประเทศมาซบเซาไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ที่เสียกรุงศรีอยุธยา แต่ก็เริ่มฟื้นฟูขึ้นอีกในสมัยกรุงธนบุรี โดยใช้ “บางกอก” เป็นท่าเรือแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มค้ากับจีนฮอลันดา และอังกฤษ ต่อเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

          ความอับเฉาทางเศรษฐกิจสืบเนื่องมาจากช่วงเวลาที่เสียกรุงจนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้รายได้ของบ้านเมือง ไม่ค่อยจะพอเพียงกับรายจ่าย อีกทั้งยังต้องเตรียมกองทัพไว้ในการศึกทั้งทางด้านพม่า และเขมรอีกด้วย เมื่อครั้งที่ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงกำกับราชการ กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระตำรวจว่าความฎีกานั้น ได้ทรง ค้าสำเภา” ด้วยสำเภาหลวง สำเภาของพระองค์เอง และชักชวนเจ้านาย กับขุนนางต่างๆ ค้าสำเภาด้วย ปรากฏตัวเลขว่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๔ ไทยมีเรือที่ค้าขายกับจีนถึง ๘๒ ลำ และที่ค้ากับประเทศอื่นๆ อีก ๕๐ ลำ เงินกำไรที่ได้จากการค้า พระองค์ท่านได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระราชบิดา เพื่อทรงใช้สอยในราชการแผ่นดิน จนพระราชบิดาเรียกขานพระนาม พระเจ้าลูกยาเธอว่า “เจ้าสัว” ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์

          เงินจากการค้า และที่เหลือจากทูลเกล้าฯ ถวายกับทรงใช้ราชการอย่างอื่นๆ ก็ทรงทำบุญกุศลต่างๆ แล้วเก็บเข้า ถุงแดง ไว้

 

เงินถุงแดงเป็นเงินอะไร

          ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเหรียญทอง (ทองคำ) ของต่างประเทศ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ – สมัยรัชกาลที่ ๑) เรายังใช้ระบบเงินพดด้วงและเบี้ยอยู่ โดยยังไม่มีเงินเหรียญและธนบัตรเหมือนปัจจุบัน เงิน ๑ เฟื้องแลกได้ ๓๐๐ เบี้ย ต่อมาแขกอินเดียจากเมืองสุหรัตเอาเบี้ยมาขาย ทำให้แลกได้เฟื้องละ ๓๕๐ เบี้ย ต่อมาจึงมีประกาศทางการว่า จะซื้อขายเบี้ยให้ซื้อขายเฟื้องละ ๔๐๐ เบี้ย แต่หากจะซื้อขายของให้คิดเฟื้องละ ๓๐๐ เบี้ย

          ยังไม่ทราบกันว่า ถุงแดง” แต่ละถุงมีเหรียญบรรจุอยู่มูลค่าถุงละเท่าไร แต่ปรากฏหลักฐานต่อมา ตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัยดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ และเรื่องเสียเขตแดนใน ร.๕” มีว่า

          ….ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ไทยจ่ายค่าเสียหายเป็นธนบัตร หากว่าต้องการเป็น เงินกริ๋ง ๆ” คราวนี้ก็ต้องเทถุงกันหมด เงินถุงแดงข้างพระที่ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงเก็บไว้ ด้วยมีพระราชดำรัสว่า เอาไว้ถ่ายบ้านถ่ายเมือง” ก็ได้ใช้จริงคราวนี้ ผู้ใหญ่เล่าว่า เจ้านายในพระราชวัง เอาเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใสถุงขนออกจากในวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือทางท่าราชวรดิฐกันทั้งกลางคืนกลางวัน….

                บทความสืบจากภาพ…..อิสรภาพของสยามแลกด้วยเงินค่าไถ่ ๓ ล้านฟรังก์ พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก” โดยไกรฤกษ์ นานา มีว่า

                “ขอสรุปว่า รัฐบาลไทยของสมเด็จพระปิยะมหาราชต้องจ่ายแน่ๆ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ เรื่องที่น่าเพิ่มเติมตรงนี้ คือ

          เงินในถุงแดง ไม่ใช่เงินสกุลฟรังก์ของฝรั่งเศส แต่เป็นเหรียญนกของประเทศเม็กซิโก ที่รู้ว่าเป็นเหรียญเม็กซิโก เพราะเอกสารฝรั่งเศสซึ่งจะกล่าวต่อไประบุไว้แน่ชัดอย่างนั้น ตามข้อสันนิษฐานมีมูลความจริงเป็นไปได้ว่า ในสมัย ร.๓ มีเงินของนอกจากต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก เปรู รูปีของอินเดีย เป็นต้น เป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันอยู่ในเมืองไทยแล้ว เงินเม็กซิโกนี้เป็นเหรียญทอง (ทองคำ) ที่มีรูปนกอินทรีย์อยู่ด้านหนึ่ง (รูปนกอินทรีย์กางปีกปากคาบอสรพิษ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก) ไทยจึงเรียก “เหรียญนก” มีอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นอยู่ที่ ๓ เหรียญนก มีค่าต่อเงินไทยประมาณ ๕ บาท หรือ ๔๘ เหรียญนก มีค่าต่อเงินไทยประมาณ ๕ บาท หรือ ๔๘ เหรียญนก ต่อเงินไทย ๑ ชั่ง (๘๐ บาท)

เหรียญเงินรูปนกของแม็กซิโก

แบบรัชกาลที่ ๓ ทรงใส่ถุงแดงไว้

          เหรียญนกเม็กซิกันที่พบเป็นรูปพิมพ์ มีพิเศษที่พิมพ์กำกับปี ค.ศ. ๑๘๒๑ – ๑๙๒๑ (พ.ศ.๒๓๖๔ – ๒๔๖๔) ไว้ว่าเป็นที่ระลึกเมื่อครบรอบหนึ่งศตวรรษที่นำออกใช้ จึงพบอนุมานได้ว่า น่าจะเป็นเหรียญที่ใช้ตรงกับรัชสมัย ร.๓ (พ.ศ.๒๓๖๗ – ๒๓๙๔) ไว้ว่าเป็นที่ระลึกเมื่อครบรอบหนึ่งศตวรรษที่นำออกใช้ จึงพออนุมานได้ว่า น่าจะเป็นเหรียญที่ใช้ตรงกับรัชสมัย ร.๓ (พ.ศ.๒๓๖๗ – ๒๓๙๔)

          ถ้าเป็นดังที่ว่านี้ เงินเม็กซิกัน คือเงิน (เหรียญ) จากถุงแดงที่ใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองไทยจากฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) (คือ ๔๓ ปีหลังจาก ร.๓ สวรรคตแล้ว) พยานหลักฐานใดคงไม่ดีเท่าปากคำของฝรั่งเศสผู้รับเงินไปเอง คือ

          ๑. หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Monde llustre’ ฉบับเดือน ตุลาคม ค.ศ.๑๘๙๓ (พ.ศ. ๒๔๓๖)

          ๒. หนังสือ The People and Politics of the Far East ค.ศ. ๑๘๙๖ (พ.ศ.๒๔๓๙) เขียนโดย Henry Norman

          จากหนังสือพิมพ์ ฝรั่งเศส ที่ทายาทนาย ม.ปาวี ผู้มีบทบาทร้ายซึ่งทำให้ไทยต้องเสียดินแดนและค่าปรับจำนวนมหาศาลนี้ เก็บรักษาไว้ที่บ้าน รายงานความสำเร็จจากการปฏิบัติการในตะวันออกไกล ความพ่ายแพ้ของฝ่ายสยามและค่าไถ่ เป็นเงินเหรียญที่ขนออกมาจากกรุงเทพฯ จนเต็มลำเรือ คล้ายขนขุมทรัพย์มหาสมบัติออกมาว่า

          “ในที่สุด จันทบูรก็อยู่ในเงื้อมมือของพวกเรา ภายใต้การดูแลของปืนใหญ่ของเรา และเรือลูแตงของเราอย่างสง่างาม ข้าหลวงใหญ่จากราชสำนักสยาม ถูกแต่งตั้งโดยตรงจากในหลวง ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเรา เพื่อให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกในการส่งมอบจันทรบูรให้อยู่ในอำนาจของเราอย่างไม่มีเงื่อนไขอีกต่อไป”

          กองกำลังอันสามารถของเรา ประกอบไปด้วย นายทหารฝรั่งเศส ๕๐ นาย ทหารญวน ๑๕๐ นาย และผู้เชี่ยวชาญทางปืนใหญ่อีก ๔ – ๕ นาย ในที่สุดเราก็สามารถกุมอำนาจทั้งประเทศไว้ได้สำเร็จ ขณะนี้เรืออาลูแอตค์กำลังเปลี่ยนหน้าที่กับเรือลูแตงของเรา เพื่อเดินทางกลับไซ่ง่อน พวกเราต่างปิติยินดีกับเงินค่าปรับสงครามที่ท่านเลอมีร์ เดอ วิลลิเอร์ ข้าหลวงใหญ่ของเราได้ส่งมาจากในหลวง บรรทุกออกมากับเรือลูแตง ชำรด้วยเหรียญเม็กซิกัน รวมทั้งหมด เป็นจำนวน ๘๐๑,๒๘๒ เหรียญ หรือคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ ๒๓ ตัน (๑ เหรียญเม็กซิกันมีค่าเท่ากับ ๓.๒๐ ฟรังก์ ฉะนั้นเงินเหรียญเม็กซิกันทั้งหมดจึงประมาณเท่ากับ ๒,๕๖๔,๑๐๒ ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๑,๓๓๕,๔๔๐ บาท หรือ ๑๖,๖๙๓ ชั่ง)

          วันที่ ๓ กันยายน ๒๔๓๖ เรือลูแตง อันหนักเพียบไปด้วยทรัพย์สมบัติอันมหาศาลของพระเจ้ากรุงสยาม ก็มาถึงฐานทัพของเราที่ไซ่ง่อน อีก ๒ วันต่อมา จึงเริ่มการขนย้ายเงินที่กองเป็นภูเขาเลากาขึ้นบก เป็นเรื่องที่สุดความสามารถที่จะนับตรวจเงินทีละเหรียญ ถึงขนาดที่เราต้องคิดวิธีตวงชั่ง เพื่อให้ได้น้ำหนักแทน มันมีจำนวนที่มากมายมหาศาลเกินความสามารถที่จะนับกัน เมื่อชั่งแล้วเงินก็จะถูกเก็บไว้ในคลังของเราที่นี่ เพื่อมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธนาคารมานับกันภายหลัง

          ภาพที่ผู้อ่านเห็นอยู่นี้ น่าจะเป็นที่ชื่นชมของพวกเราโดยแท้ แต่ท่านคงไม่ทราบหรอกว่า เป็นความลำบากนักหนาในระหว่างการขนออกมาจากสยาม เสนาบดีพระคลังในสยาม คงจะใช้ถุงใส่เงินที่เสื่อมคุณภาพเต็มที พอเจอไอเค็มของน้ำทะเลเผาด้วยแดดเข้า ถุงก็ปริแตกออกจนหมดเงินก็ทะลักออกมากองเต็มลำเรือ พอถึงที่หมายจึงต้องหาถังมาขนใส่ออกจากเรืออย่างทุลักทุเล เพื่อใช้เลื่อนไปตามล้อรถบรรทุกกระสุนปืนใหญ่………”

          เงินกว่าสองล้านห้าแสนฟรังก์ที่ขนกันออกไปกับเรือลูแตง บวกกับเงินอีก ห้าแสนฟรังก์” ที่จ่ายเป็นเช็คส่งตามไปยังไซ่ง่อน ทำให้ได้ยอดเงินสุทธิโดยประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ ไม่มีขาด (มีแต่เกิน) แลกกับอิสรภาพของสยาม !

          สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงบันทึกถวายพระปิยะมหาราชว่า ได้จ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๓๖ คิดเป็นเงินไทย รวม ๑,๖๐๕,๒๓๕ บาท กับอีก ๒ อัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงบันทึกในหนังสือ เจ้าชีวิต” ว่า “ไทยยอมเสียค่าปรับ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ฝรั่งเศส เท่ากับราว ๑,๕๖๐,๐๐๐ บาท ในขณะนั้น”

          จึงพออนุมานได้ว่า ค่าไถ่บ้านถ่ายเมืองในครั้งนี้ เป็นจำนวนเงิน หนึ่งล้านหกแสนห้าพันกว่าบาท” แต่หากคิดน้ำหนักของต่างๆ แล้ว คำนวณตัวเลขโดยประมาณ เรามีแต่จ่าย “เกิน” ไปฝรั่งเศสจึงไม่นับแต่ชั่งเอา เพราะอย่างไรก็ใช้ “อำนาจปืนเร็ว” ตามลัทธิอาณานิคมอยู่แล้ว การใช้เงินแก่ฝรั่งเศสครั้งนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากเงินถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ สมทบกับเงินของพระบรมวงศานุวงศ์อีกจำนวนหนึ่ง

          หลักฐานสำคัญแสดงว่า เงินถุงแดง” ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่จริงไม่ใช่เป็นคำบอกเล่า และเงินนี้ได้นำไปใช้ในการกู้สถานการณ์ในครั้งนั้นจริง มีปรากฏอยู่ในบันทึกประวัติ หลวงธนศักดิ์(จัน สมิตตินันทน์) ผู้ตามเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประพาสหัวเมืองต่างๆ เป็นประจำ หลวงธนศักดิ์ดูแลพระคลังช้างที่ จัดการถวายเงิน (และจ่ายเงินในการใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งทุกอย่างขึ้นตรงต่อท่าน)

           การปฏิบัติราชการครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ก็คือ เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ที่ไทยต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามนั้น หลวงธนศักดิ์ได้เป็นผู้ถือเงินถุงแดงอันเป็นพระราชทรัพย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นไปบนเรือรบฝรั่งเศสด้วยคุณงามความดี ชื่อเสียง เกียรติคุณของหลวงธนศักดิ์ จึงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี หลวงธนศักดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันเสาร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

          หนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ว่า

          เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ นั้น มีเงินในพระคลังข้างที่ เหลือจากจับจ่ายในราชการแผ่นดินจำนวน ๔๐,๐๐๐ ชั่ง (เท่ากับ ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท) ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงขอไว้ ๑๐,๐๐๐ ชั่ง (๘๐๐,๐๐๐ บาท) เพื่อบำรุงวัดวัดที่สร้างค้างไว้ให้แล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือนั้น (๓๐,๐๐๐ ชั่ง) ถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ (รัชกาลที่ ๔) ตามแต่จะทรงใช้”

           สำหรับรัชกาลที่ ๔ ก่อนขึ้นครองราชย์ ในส่วนเงินแผ่นดินที่ทรงได้รับจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเบี้ยหวัดเงินปีระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๘๓ ปีละ ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท) ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๔ – ๒๓๙๓ ปีละ ๑๕ ชั่ง (๑,๒๐๐ บาท) เงินเดือนที่ได้รับพระราชทานเดือนละ ๕ ตำลึง (๒๐ บาท) และเงินขึ้น (จากภาษี) ที่รัชกาลที่ ๒ พระราชทานปีละ ๗๐ ชั่ง (ประมาณ ๕,๖๐๐ บาท) รัชกาลที่ ๓ พระราชทานอีกปีละประมาณ ๗๐ ชั่ง (ประมาณ ๕,๖๐๐ บาท) รัชกาลที่ ๓ พระราชทานอีกปีละประมาณ ๔๐ ชั่งเศษ (ประมาณ ๓,๒๐๐ บาท) รวมเป็นเงินต่างๆ รัชกาลที่ ๔ ทรงสมทบให้อีกประมาณ ๕,๐๐๐ ชั่ง จึงพอจะอนุมานได้ว่า เงินถุงแดง ของรัชกาลที่ ๓ จำนวน ๔๐,๐๐๐ ชั่ง กับอีก ๕,๐๐๐ ชั่ง ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงเก็บไว้รวมเป็นเงินราว ๔๕,๐๐๐ ชั่ง (ประมาณ ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท) เงินเหล่านี้น่าจะสมทบกัน ไถ่บ้านไถ่เมือง” ได้

           พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในอดีตที่รักษาเอกราชไว้ด้วยเงิน ถุงแดง” น่าจะเป็นที่จารึกจดจำมาถึงคนยุคเราๆ ในปัจจุบันและมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงนี้ด้วยกันทุกคน

          ความบางตอนจาก สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ อักษร ข – จ ฉบับราชบัณฑิตสถาน

 

เงินพระคลังข้างที่

          เงินพระคลังข้างที่ หรือเงินข้างที่ คือพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินรายได้แผ่นดินส่วนหนึ่งที่แบ่งถวายพระมหากษัตริย์เพื่อใช้จ่ายส่วนพระองค์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบัน คือ เงินงบประมาณส่วนหนึ่งที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งเงินผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วยอีกส่วนหนึ่ง

          ประวัติของเงินพระคลังข้างที่นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า มีมาแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเงินที่ได้จากการค้าสำเภาหลวง

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่อง เงินพระคลังข้างที่ และคลังข้างที่ ไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๓ ความว่า

          “….เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีกำปั่นเงินไว้ข้างพระแท่นที่บรรทมใบหนึ่ง สำหรับทรงหยิบพระราชทานผู้ใด หรือใช้จ่ายการอันใด โดยลำพังพระองค์เอง คือไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้ จะเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมามีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ทราบแน่ เห็นจะเรียกกันว่า เงินข้างที่” ทำนองเดียวกับเรื่องเงินที่เอาตามเสด็จไปไหนๆ ว่า เงินท้ายที่นั่ง” และคนแบ่งไปจากเงินพระคลังในนั่นเอง ถึงรัชกาลที่ ๓ พกระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บหอมรอบริบเงินซึ่งเป็นส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นในเงินข้างที่อีกมาก สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และมีเงินซึ่งเรียกกันว่า “เงินถุงแดง” สำรองไว้สำหรับใช้ในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ กำปั่นเก็บเงินข้างที่มีมากขึ้น หรือจะต้องเก็บในห้องหนึ่งต่างหากเหมือนอย่างคลัง จึงเรียกว่า คลังข้างที่” เกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๒ แต่ดูเหมือนจะเรียกกันแต่ในราชสำนักฝ่ายในมาจนในรัชกาลที่ ๔ จึงเรียกปรากฏในทางราชการ…ที่ตั้งกรมพระคลังข้างที่ขึ้น เป็นกรมหนึ่งต่างหากนั้น เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕…”

                ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินกำไรจากการค้าสำเภาหลวงคงเป็นเงินรายได้แผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ทรงพยายามแยกไว้ใช้จ่ายเป็นการส่วนพระองค์ เพราะในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ นั้น เงินพระคลังมหาสมบัติซึ่งเป็นเงินรายได้แผ่นดินไม่พอใช้จ่ายในราชการ โดยเฉพาะในการแจกเบี้ยหวัด จึงต้องเอาเงินกำไรจากการค้าขายมาใช้จ่ายในราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงหามาได้เองเป็นจำนวนมาก ก่อนขึ้นครองราชย์ เพราะนอกจากจะทรงจัดการค้าสำเภาหลวงแล้ว ยังทรงค้าสำเภาเป็นการส่วนพระองค์ด้วย พระราชทรัพย์เหล่านี้คงจะบรรลุไว้ในถุงสีแดง เก็บไว้ในพระคลังข้างที่ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก เงินถุงแดง”

                เมื่อสิ้นรัชกาลก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินพระคลังข้างที่ทั้งหมดถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ตามแต่จะใช้สอยทำนุบำรุงราชการแผ่นดินต่อไป ซึ่งต่อมาได้ใช้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ ๒๔๓๖)

ฯลฯ

          ปัจจุบันเงินพระคลังข้างที่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้จ่ายในการส่วนพระองค์ ทำนุบำรุงดูแลรักษาซ่อมแซมพระราชนิเวศน์ และการพระราชกุศลทั้งปวงได้จากเงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักพระราชวัง ……เงินอุดหนุนงบประมาณพระมหากษัตริย์และรายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีกส่วนหนึ่ง

 

บรรณานุกรม

  1. กรมศิลปากร,           อักษรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย อักษร ฆ ง ฉ พุทธศักราช   ๒๕๓๓ หน้า ๒๖ – ๒๗.
  2. ไกรฤกษ์ นานา, พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก ; ประวัติศาสตร์ นอกพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ ศิลปะวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, หน้า ๗๒ – ๘๖.
  3.  หม่อมหลวง จ้อย (งอนรถ) นันทิวัชรินทร์, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ, ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
  4. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ อักษร ข – จ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หน้า ๑๗๙ – ๑๘๕