ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




รัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ

รัชกาลที่ ๓ กับเทคโนโลยีสารสนเทศ

______________

คุณหญิงแม้นมาส  ชวลิต  เรียบเรียง

 

มนุษย์กับความรู้

                ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมนุษย์ ซึ่งเป็นที่รับรองทั่วไปว่า  ชีวิตของมนุษย์ดำรงอยู่ได้เพราะจตุปัจจัย คือ  ๑. อาหาร ๒.  ยารักษาโรค ๓. เครื่องนุ่งห่ม ๔. ที่อยู่อาศัย  ดังที่กำหนดว่าเครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม)  บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่)  และศิลานเภสัช (ยา)  ทั้งนี้ ในข้อบังคับทางพระพุทธศาสนา มีรายละเอียดมากเกี่ยวแก่ปัจจัยแต่ละอย่าง  ซึ่งมีคุณสมบัติสมควรแก่สมณเพศ  ความจริงแล้ว ข้อกำหนดรายละเอียดหลายประการ  ฆราวาสก็น่าจะพิจารณาและถือปฏิบัติ  เพื่อคุณภาพชีวิตของตน

                ปัจจัยสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ที่มิได้เคยกำหนดไว้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งนั้นคือ ความรู้  การบันทึกความรู้ และการกระจายถ่ายทอดความรู้ มนุษย์ได้สร้างความรู้จากประสบการณ์  การทดลอง  และบันทึกไว้เพื่อกันลืม  และในขณะเดียวกัน ก็เผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบด้วย  จะได้นำไปใช้

                ปัจจัยทั้งสี่ดังกล่าว ต้องอาศัยความรู้เป็นฐานทั้งสิ้นยกตัวอย่าง  อาหารเรื่องเดียวคนโบราณคงต้องเรียนรู้จากสัตว์ว่าอะไรกินได้  อะไรกินแล้วเป็นพิษ  ทดลองกิน หรือเห็นคนอื่นกินแล้วรู้  จดจำและกำหนดชื่อสิ่งนั้น ๆ ในช่วงเวลาหลายพันปีของการพัฒนาสะสม  และพัฒนาความรู้  ในปัจจุบัน เราจึงมีอาหารหลากหลาย  มีการปรุงรสให้มีรสอร่อย  มีตำราอาหาร ตำราโภชนาการ  มีทั้งหนังสือ บทความในวารสาร  รายการทางโทรทัศน์  เพราะคนที่มีความรู้เห็นว่า  ควรเผยแพร่ความรู้ให้ผู้อื่นทราบด้วย  โดยวิธีต่าง ๆ บอกกล่าว  ทำให้ดู  ให้ทดลองทำสมัยหนึ่ง ความรู้เรื่องอาหารมีการถ่ายทอดกันเฉพาะในครอบครัวโดยการบอกกล่าว และสอนให้ทำ จากความรู้ที่ว่าอะไรกินได้ อะไรอร่อย มาจนทุกวันนี้  มีการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของสิ่งที่เป็นอาหารให้รู้ว่า พืช  หรือสัตว์  แต่ละชนิดประกอบด้วยสารเคมีอะไรบ้าง  ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายในด้านไหน  ทุกวันนี้ถ้าเราใฝ่รู้เรื่องอาหาร หมั่นอ่าน หมั่นฟังคำบรรยายของผู้รู้และเราก็จะมีความปลอดภัยจากสิ่งที่เป็นอันตราย  น่าเสียใจที่มีข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ว่า  มีคนตาย  หรือป่วยเพราะรับประทานอาหารที่เป็นพิษ  มีคนเป็นโรคที่เกิดจากความไม่มีความรู้  และไม่ใส่ใจเรื่องอาหาร  เช่น เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด ก็ยังมีอยู่เสมอ

                การสร้างความรู้ และถ่ายทอดความรู้ มีความสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตปัจจุบันนี้  ทั่วโลกมีความคิดร่วมกันว่า  ความรู้มีความสำคัญต่อบุคคลและสังคม  โลกปัจจุบัน คือ โลกแห่งความรู้ไม่มีพรมแดน  ต้องกระจายความรู้ให้กว้างไกลที่สุด  เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ทัดเทียมกัน ความเจริญก็จะทัดเทียมกัน

 

การบันทึกความรู้

                การสร้างสรรค์องค์ความรู้ การบันทึก และถ่ายทอดความรู้ในสังคมไทย  ก็มีมาแล้วช้านาน เช่น  การเขียนภาพ  ตามผนังถ้ำ  การใช้ตัวอักษรจารึก  ความรู้ ความคิดลงบนแผ่นหรือแท่งศิลาเขียน  เขียนลงบนใบลาน  และกระดานที่ทำด้วยมือ  เรามีศิลาจารึกภาษาไทย  อักษรไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ความรู้ที่เขียนลงบนใบลาน  บนกระดานทำด้วยมือ และวัสดุอื่นก็คงมีหากแต่ได้ถูกทำลายโดยมนุษย์ หรือภัยธรรมชาติ  การกระจายความรู้ ข้อมูลข่าวสาร โดยการเขียนลงบนกระดาษ ข่อย ผ้า และใบลาน ได้มีมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ก่อนเริ่มมีการตีพิมพ์ด้วยเครื่องจักร  ซึ่งชาวต่างประเทศที่เข้ามาสอนคริสต์ศาสนา  ได้นำมาใช้พิมพ์หนังสือสอนศาสนา

แท่นพิมพ์ไม้ของกูเตนเบิร์ก สร้างขึ้นกลางศตวรรษที่ ๑๕ 

นับเป็นแท่นพิมพ์รุ่นแรก ๆ ของโลก

 

การกระจายเอกสารราชการ

                นอกจากการใช้หนังสือเป็นเครื่องบันทึกและกระจายความรู้แล้ว  หนังสือยังมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าว  คำสั่ง  ข้อบังคับ และกฎหมาย จากศูนย์กลางการปกครอง ไปสู่หน่วยการปกครองในท้องถิ่นต่าง ๆ ในพระราชอาณาเขตอีกด้วย  วิธีการที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมา  ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งยังมีเอกสารประจักษ์พยานให้เห็นก็คือ  การเขียนข้อความลงบนกระดาษข่อย (คำ “หนังสือ”  ที่หมายถึงจดหมายโต้ตอบทางราชการ  ยังคงมีการใช้อยู่จนทุกวันนี้)

                วิธีการเขียนหนังสือสมัยนั้น  เริ่มด้วยการที่อาลักษณ์ หรือข้าราชการในกรมวัง จะจดพระราชกระแสรับสั่งลงบนกระดาษข่อย  ซึ่งส่วนมาจะทาสีดำ  เขียนด้วยดินสอสีขาว  หลังจากการอ่านทานตรวจแก้ไขเรียบร้อยแล้ว  ดูตัวอย่างร่างที่มีการแก้ไข  อาลักษณ์ก็จะเขียนด้วยตัวบรรจงลงบนกระดาษที่เตรียมไว้แล้วอย่างดี  คือ  ผิวพื้นเรียบเสมอ  ผู้คัดข้อความต้องระมัดระวังมาก ไม่ให้ผิดสำหรับหนังสือสำคัญมาก  เช่น พระราชบัญญัติ จะคัดตัวอักษรสีเหลืองโดยใช้หรดาล

                ในการส่งพระราชบัญญัติให้ทราบทั่วกัน  ก็ให้คัดสำเนาแจกไปให้ทราบทั่วกัน เช่น ในพระราชบัญญัติห้ามสูบฝิ่น ให้ “สัสดีหมายแจกพระราชบัญญัติไปทุกหมู่ทุกกรม ให้รู่จงทั่วแล้วให้มหาดไทย  กลาโหม  กรมท่า  คัดพระราชบัญญัติแจกไปจงทุกเมือง  แลในพระราชบัญญัตินั้นว่า  กฎหมายให้ไว้แก่พระสุรัศวดี  ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ เจ้าพญา  และพญา  พระหลวงเมือง เจ้าราชนิกุล ขุนหมื่น  พันทนาย  ฝ่ายทหารพลเรือน ชาวที่มหาดเลกขอเฝ้า...”

                ไม่ได้พบเอกสารแจ้งว่า  การคัดพระราชบัญญัตินับด้วยร้อยฉบับเช่นนี้ จะใช้เวลา และใช้กำลังคนมากน้อยเพียงไร  ผู้ที่เขียนหนังสือด้วยมือ  ยังไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์คงจะประมาณเวลาได้บ้าง

                เอกสารราชการเกี่ยวกับการห้ามสูบฝิ่นและขายฝิ่น ในรูปของสมุดข่อย เท่าที่เก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ  ระหว่างรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๓๕๔ - ๒๔๓๔)  รวม  ๗๙ ฉบับ เฉพาะในรัชกาลที่ ๓ มีอยู่ ๒๐ ฉบับ  มีทั้งที่เขียนด้วยดินสอ  และหรดาล ซึ่งเป็นฉบับที่ส่งออกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ไม่ได้พบเอกสารแจ้งจำนวนฉบับที่ส่งออกไป  แต่พอคาดคะเนได้ว่า เป็นจำนวนไม่น้อย

                ดังนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชบัญญัติห้ามสูบฝิ่นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ จึงเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า ทรงตระหนักในศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่อาจนำมาใช้ในการดำเนินรัฐประศาสนโยบายได้  และรัฐควรส่งเสริมเอกชนให้ใช้เทคนิคการพิมพ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่อาณาประชาราษฎร์

                ในกระบวนการกระจายสารอย่างกว้างขวางนั้น นอกจากต้องใช้เทคโนโลยีในการทำสำเนาผู้รับ วิธีการแต่โบราณมาก็มีการให้คนเดินสารถือสารเดินเข้าไปตามเส้นทางที่มีอยู่ หรือขี่ม้า หรือลงเรือถ้าปลายทางอยู่ริมน้ำ จะให้ถึงเร็วช้าเพียงไร ก็กำหนดไว้ว่าต้องเปลี่ยนคนเดินสาร หรือคนขี่ม้าส่งสาร ณ จุดไหน ที่พอกำหนดได้ว่า คนเดินเหนื่อยแล้ว ม้าเหนื่อยแล้ว คนพายเรือต้องจอดเรือแล้ว

                โดยที่ทรงตระหนักในความสำคัญของการคมนาคม  ซึ่งส่วนหนึ่งต้องใช้เพื่อการส่งสารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลอง ตัดถนน  และต่อเรือจำนวนมากรวมทั้งการให้สร้างเรือกลไฟแทนเรือใบ ในการเดินเรือทางทะเล

                นอกจากการใช้เทคนิคการพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระราชบัญญัติให้กระจายไปในวงราชการแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ได้ทรงสนับสนุนงานพิมพ์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรอีกด้วย  เช่น เมื่อหมอบรัดเลย์พิมพ์บทความการปลูกฝีโค ให้ความรู้แก่แพทย์ไทย  ในเรื่องการทำวัคซีนเพื่อฉีดป้องกันไข้ทรพิษ  พระองค์ได้พระราชทานเงินรางวัล ๒๔๐ บาท (เท่ากับ ๑๔๕ เหรียญสหรัฐในขณะนั้น)  หมอบรัดเลย์ได้ใช้เงินรางวัลพระราชทาน พิมพ์ตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรกในประเทศไทย คือ หนังสือ “คัมภีร์ครรภ์รักษา” แปลจากเรื่อง  Treatise on Midwifery  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕