ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3

การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ ๓

สายไหม  จบกลศึก  เรียบเรียง

 

 

ดอกฝิ่น

 

ต้นฝิ่นและผลิตภัณฑ์ฝิ่น   มีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ชาวอังกฤษได้นำพันธุ์มาปลูกอย่างกว้างขวางในประเทศอินเดียเมื่อครั้งอินเดียเป็นอาณานิคมของตน  เพื่อเป็นสินค้าส่งขายให้แก่ประเทศในเอเชียตะวันออก  เพราะทำกำไรสูงมาก ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของอังกฤษในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  คือ ประเทศจีน

 

ฝิ่นมีสารออกฤทธิ์  สามารถทำลายผู้เสพให้ค่อย ๆ หมดสภาพความเป็นผู้เป็นคน  ทำให้เกียจคร้าน  ง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สู้งาน เมื่อเสพติดแล้ว  ทำให้อยากสูบ  จะกระวนกระวาย  หงุดหงิดงุ่นง่านเมื่อไม่ได้สูบ ฤทธิ์ฝิ่นจะบีบคั้นให้เกิดอาการทุรนทุราย  ถ่ายเป็นเลือด  เรียกว่า ลงแดง หรือ ลงท้อง  เสียชีวิตอย่างทรมาน  จึงถือว่าฝิ่นคือยาพิษของโลก

อังกฤษลำเลียงฝิ่นเป็นสินค้าเข้าไปขายในประเทศจีน   เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยมีชาวจีนติดฝิ่นส่วนหนึ่งนำฝิ่นติดตัวเข้ามาด้วย รวมทั้งชาวจีนที่ขายฝิ่น  ก็ได้นำฝิ่นเข้ามาขายให้แก่พวกชาวจีนด้วยกันด้วย  เข้าใจว่า  ประเทศไทยจึงเริ่มมีฝิ่น ตั้งแต่สมัยอยุธยา  ซึ่งมีการเสพฝิ่นแพร่หลายในหมู่คนไทยที่อาศัยอยูแถบหัวเมืองชายทะเล ทั้งชายทะเลฝั่งตะวันออก  ได้แก่  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ระยอง  จันทบุรี   ตราด  ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ระนอง  ตะกั่วป่า  ภูเก็ต และหัวเมืองชายทะเลภาคใต้ทั่วไป ตั้งแต่  เพชรบุรี ประจวบคิรีขันธ์ โดยเฉพาะที่เมืองสงขลา  อังกฤษจึงขยายตลาดค้าฝิ่นเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เช่าเกาะหมากหรือปีนัง   ปีนังเป็นดินแดนของไทยมาแต่เดิม  ต้องเสียให้แก่อังกฤษเพราะพระยาไทรบุรีแอบยกให้อังกฤษเช่าในรัชกาลที่ ๑ เป็นที่ตั้งสถานีการค้าโดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์การค้าฝิ่นแก่ไทยในแถบนี้

ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒) ได้ออกประกาศในลักษณะป่าวร้อง มิให้พลเมือง "สูบฝิ่น กินฝิ่น  และซื้อฝิ่นขายฝิ่น"

 รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๒ ปี พุทธศักราช ๒๓๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชกำหนด "ห้ามซื้อขายฝิ่นสูบฝิ่น"  

โทษของการสูบฝิ่นขายฝิ่น คือ ถูกเฆี่ยน ๓ ยก ยกหนึ่ง ๓๐ที ตระเวนบก  ๓ วัน  ตระเวนเรือ  ๓  วัน  ถูกริบทรัพย์  ริบบุตรภรรยา  ตนเองต้องเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง   ผู้ที่รู้เห็นเป็นใจให้มีการสูบและขายฝิ่นจะมีโทษถูกเฆี่ยน  ๒ ยก  

พิจารณาจากการกำหนดโทษแล้ว จะเห็นได้ว่า การสูบฝิ่นขายฝิ่นนั้นเป็นโทษร้ายแรงทีเดียว อย่างไรก็ตาม แม้โทษของฝิ่นจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม   ปรากฏในเวลาต่อมาว่า การสูบฝิ่นมิได้ลดลงแม้แต่น้อยเลย พุทธศักราช ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติห้ามสูบฝิ่นอีกครั้ง ได้ทรงมีมาตรการช่วยเหลือผู้สูบฝิ่น ผ่อนผันเวลาให้สามารถละเลิกได้อย่างถาวรในเวลา ๑๐ เดือน  ถ้าสามารถเลิกได้   ก็จะไม่มีโทษ  และได้เพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเลิกได้ด้วยการริบบุตรภรรยาให้เป็นคนโทษ สีข้าวในฉางหลวง  ส่วนพ่อค้าที่มีฝิ่นอยู่ในครอบครอง  ให้นำมามอบไว้เเก่เจ้าพนักงาน   รอจนกว่าถึงฤดูมรสุมเรือล่องไปเมืองจีน  ก็ให้เจ้าของฝิ่นมารับนำออกไปนอกพระราชอาณาจักรให้หมดสิ้น  ถ้าไม่ปฏิบัติตาม จะถูกปรับเท่าราคาฝิ่น นำฝิ่นไปถ่วงน้ำ เจ้าของฝิ่นถูกเฆี่ยน ๓ ยก ริบทรัพย์ ตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนน้ำ ๓ วัน  แล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างเหมือนกับผู้สูบฝิ่น

                              (เอารูปในหนังสือของคุณอุภาศรี)

          ภาพคนสูบฝิ่น : เหม  เวชกร ผู้เขียน                       มีภาพถ่ายคนสูบฝิ่นอยู่ (หนังสืออยู่ที่พี่โอ)

 

ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาเจษฎาราชเจ้า (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) ทรงตระหนักถึงพิษภัยของฝิ่นจากเหตุการณ์ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชและสมเด็จพระราชบิดาอย่างต่อเนื่อง

พุทธศักราช ๒๓๖๙ อังกฤษส่งร้อยเอกเฮนรี่  เบอร์นี  เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาเจษฎาราชเจ้า  ทรงตระหนักว่า การขัดแย้งกับอังกฤษเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม  ทรงทำสนธิสัญญากับอังกฤษด้วยพระปรีชาอันสุขุม  ขอยกเว้นการค้าฝิ่นโดยมีการระบุในสนธิสัญญาชัดเจนว่า

“..ห้ามมิให้ลูกค้าเอาฝิ่นซึ่งเป็นของต้องห้ามเข้ามาค้าขาย ณ เมืองไทยเป็นอันขาด  ถ้าลูกค้าขืนเอาฝิ่นเข้ามาขายเมื่อใด  ให้พระยาผู้ครองเมืองเก็บริบเอาฝิ่นเผาไฟเสียให้สิ้น...”  เป็นการประกาศนโยบายชาติให้ชาวตะวันตกและชาวต่างประเทศอื่นเข้าใจอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามการลักลอบซื้อขายฝิ่นยังคงมีอยู่  ทั้งนี้เพราะกำไรดีและคนติดแล้วมักเลิกยาก

การที่ประชาชนติดฝิ่นเป็นเรื่องใหญ่ของแผ่นดิน ถือเป็นการบ่อนทำลายชาติ  เพราะผู้ติดฝิ่นจะเป็นบุคคลที่ไร้ทั้งกำลังวังชาและไร้สติปัญญา  เมื่อใดที่พลเมืองอ่อนแอขาดสติปัญญาเสียแล้ว  บ้านเมืองย่อมอยู่ในอันตราย   แต่กลับเสมือนว่าแก้ไขไปได้ด้วยยากยิ่ง  ทั้งนี้เพราะว่า  มีชาวจีนอพยพหลั่งไหลมาสู่ประเทศไทยมากขึ้น  เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาภายในหลายประการ เดินทางเข้ามาเป็นละลอกๆ ทุกเที่ยวเรือสินค้า จนกล่าวได้ว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ แทบจะมีชาวจีนมากกว่าคนไทย ทั้งนี้ ไม่รวมพวกที่กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลทั่วไป บรรดาชาวจีนเหล่านี้  มีชาวจีนที่ติดฝิ่นปะปนอยู่ด้วยจำนวนมาก  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต้องดำเนินพระราชวิเทโศบายอย่างละมุนละม่อมหลายประการหลอมชาวจีนให้กลายเป็นพลเมืองไทย

ประเทศจีนมีพลเมืองติดฝิ่นจำนวนมาก ทั้งทหาร  พลเรือน  ผู้ปกครอง คือ  ข้าหลวงเมืองกว่างโจว ที่ชาวไทยเรียกว่าเมืองกวางตุ้ง   ได้ส่งสาส์นถึงสมเด็จพระราชินีวิคทอเรียแห่งอังกฤษ  ขอร้องให้หยุดส่งฝิ่นไปขายยังเมืองจีนเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ไม่สมควรนำยาพิษเข้าไปทำลายชาวจีน เพราะในอังกฤษเองยังมีกฎหมายห้ามพลเมืองของตนสูบฝิ่นและค้าฝิ่น อังกฤษกลับเมินเฉยไม่สนใจคำขอร้อง  จึงเกิดสงครามฝิ่นขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๒   อันเป็นระยะเวลาที่ตรงกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาเจษฎาราชเจ้า  ทรงปราบและกวาดล้างฝิ่นอย่างเด็ดขาดเช่นกัน  

 จีนแพ้อังกฤษต้องเสียค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก ช่วงนี้ชาวจีนได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น จีนทำสงครามฝิ่นกับอังกฤษอีกครั้ง  หลังจากนี้ ๑๗ ปี และพ่ายแพ้อีก  ถูกบังคับให้ยอมรับว่าฝิ่นเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย  ภัยของชาวเอเชียจากนักล่าอาณานิคมในยุคต้นรัตนโกสินทร์จึงมีหลายรูปแบบ  

จึงเห็นได้ว่า ชาวไทยสมัยนั้นเผชิญปัญหาฝิ่นจากชาวจีนอพยพ  ที่ต้องปราบปรามอย่างจริงจัง  และจากความพากเพียรของอังกฤษที่จะเอากำไรจากการขายฝิ่นที่เมืองไทย  อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นชาติที่โชคดีที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์กว้างไกล  ทรงรู้เท่าทันเหตุการณ์และดำเนินการปกป้องผืนแผ่นดิน  รักษาเอกราชอธิปไตยไว้ด้วยพระปรีชาสามารถตามสภาพเหตุการณ์ของแต่ละสมัยอย่างสุขุมคัมภีรภาพ

หน่วยคำนวณค่าของฝิ่นในยุคนั้นคิดเป็นหาบ  ๑ หาบน้ำหนักเท่ากับ  ๖๐  กิโลกรัม   ราคาหาบละ ๕,๐๐๐  บาท (ห้าพันบาท)  ในแต่ละปีจะมีการลักลอบซื้อขายกันเป็นเงินสูงถึง ๑ ล้านบาททีเดียว ฉะนั้น ประเทศใดที่มีพลเมืองติดฝิ่นแล้ว   ประเทศเจ้าของสินค้าฝิ่นสามารถนำฝิ่นเข้าไปแลกทรัพย์สินหรือทรัพยากรธรรมชาติตามต้องการได้อย่างง่ายดาย

 

ฝิ่นระบาดตามเมืองชายแดน   ได้แก่  จันทบุรี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ  สมุทรสงคราม  เพชรบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ถลาง  ซึ่งล้วนเป็นเมืองที่ชาวจีนตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน

พุทธศักราช ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า  ทรงกวดขัน กวาดล้างการค้าฝิ่นครั้งใหญ่ ทั้งปราบปรามผู้เสพติดอย่างหนัก  ริบได้ฝิ่นในปริมาณมาก  ฝิ่นดิบ ๓,๗๐๐  หาบเศษ  ฝิ่นสุก  ๒  หาบ  รวมเป็นน้ำหนักฝิ่นถึง  ๒๒๒,๑๒๐  กิโลกรัม  คิดเป็นราคาขาย  ในขณะนั้น  ๑๘,๕๙๐,๐๐๐.๐๐  บาท  (สิบแปดล้านห้าแสนเก้าหมื่นบาท)  มากกว่างบประมาณแผ่นดินหลายเท่า  โปรดให้รวมนำมาเผาทำลายที่สนามไชย  หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์  เมื่อวันที่  ๑๘  เมษายน  พุทธศักราช  ๒๓๘๒

ทรงนำกลักฝิ่นจำนวนมากมาหลอมแล้วหล่อเป็นพระพุทธปฏิมา  ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ประดิษฐาน ณ การเปรียญ  วัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อแรกผู้คนเรียก “พระกลักฝิ่น” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔ ถวายพระนามว่า  “พระพุทธเสรฏฐมุนี”  ความหมายว่า “พระผู้ประเสริฐสุด”

         พระพุทธเสรฏฐมุนี  ประดิษฐาน ณ การเปรียญวัดสุทัศน์ฯ

 

พระอัจฉริยภาพในการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาเจษฎาราชเจ้า  ทรงนำกลักฝิ่นมาหลอมหล่อเป็นพระพุทธปฏิมา  น่าจะเป็นพระราชกุศโลบาย  เพื่อให้พสกนิกรตระหนักว่า  การเกี่ยวเนื่องด้วยสิ่งไม่ดีจากสิ่งเสพติด  การหลงติดฝิ่น  เมื่อคิดกลับตัวกลับใจละเลิกได้แล้ว  ก็กลับเป็นความดีงาม  ดังเช่นกลักฝิ่นนำมาหลอมหล่อเป็นพระพุทธรูปที่เคารพบูชา  เป็นการให้คติธรรม  แรงบันดาลใจ  และอธิษฐานธรรมที่จะบังเกิดพลังเข้มแข็งต่อต้านเอาชนะใจตนเอง  ขจัดฝิ่นได้จริงจัง

เพื่อให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยในการปราบฝิ่น  จึงขอนำประกาศห้ามสูบฝิ่นมาลงไว้ให้ปรากฏ ดังนี้       

                                   

ประกาศห้ามสูบฝิ่น

 “ด้วยเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (1) รับพระราชโองการ ใส่เกล้าใส่กระหม่อม  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า  ตั้งแต่เสด็จขึ้นราชาภิเศกเสวยราชสมบัติ  ตั้งพระทัยจะบำรุงพระบวรพุทธศาสนา  รักษาแผ่นดิน ปกครองพระบรมวงศานุวงศ์  ข้าทูลละอองธุลีพระบาท  และราษฎรลูกค้าพาณิช  จะให้ทำมาหากินปราศจากโทษ  จะให้มีประโยชน์ทรัพย์สินอยู่เย็นเป็นสุข  ทั่วไป  โดยพระทัยตั้งต่อพระโพธิญาณ  กอร์ปไปด้วยพระมหากรุณาแก่สรรพสัตว์เป็นอันมาก  

ทรงพระราชดำริเห็นว่า  คนสูบฝิ่นเป็นเสี้ยนหนามพระพุทธศาสนา  ให้แผ่นดินจุลาจลต่าง ๆ  ฝิ่นเป็นของชั่วห้ามปรามสืบต่อมาทุกแผ่นดิน  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชบริหารบัญญัติแจกประกาศไปแต่ก่อน  ห้ามมิให้ผู้ใด ๆ ซื้อฝิ่นขายฝิ่น  ฝิ่นสุกฝิ่นดิบของผู้ใดมีให้เอามาส่งไว้ในพระคลังในซ้ายให้สิ้นเชิง  กว่าจะผ่อนเอาออกไปขายเสียได้นอกประเทศ  อย่าให้เอาฝิ่นไว้กับบ้านเรือน  เรงร้าน  เรือแพ  ลอบลักซื้อขายแก่กัน  ถ้ามิฟัง  มีผู้จับได้  ให้เอาฝิ่นตั้งปรับไหมเจ้าของฝิ่น ๑๐ ต่อ ฝิ่นที่จับได้นั้น โปรดให้เอาไปขายเสียนอกประเทศ  ได้ราคาเท่าใด  ก็ให้หักเงินพินัยลงให้เจ้าของฝิ่น 

ให้ข้าราชการตั้งกองปรับไหม โดยพระทัยจะทรมานคนโลภ  ที่ซ่อนฝิ่นไว้ ซื้อขาย  ให้เสียทรัพย์ค่าปรับไหม  จะได้เข็ดหลาบ  แลคนที่เห็นแก่แผ่นดิน มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว  เอาฝิ่นมาส่งฝากไว้ตามกฎหมายพระราชบัญญัติก็มี  ที่เป็นคนพาลสันดานโลภ  จะเอากำไรในการซื้อฝิ่นขายฝิ่น  ก็ยังลักลอบซื้อขายอยู่  จนมีผู้จับได้  ต้องปรับไหมก็มากหลายราย แต่ให้ตั้งกองจับปรับไหมมาก็นานกว่าสิบปีแล้ว  ก็ยังลอบลักรับซื้อ  เอาฝิ่นเข้ามาขายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  คนสูบฝิ่นกินฝิ่นก็ชุกชุมขึ้น  หาเข็ดหลาบละเว้นเสียไม่

สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว  จึ่งทรงพระปรารภจะระงับตัดรอนฝิ่น  จะไม่ให้มีอยู่ในแผ่นดิน  และฝิ่นนี้ก็ไม่มีพืชผลต้นลำอยู่ในแคว้นขอบขัณฑเสมา  ฝิ่นนี้มาแต่นานาประเทศ  ไม่มีคนรับรองซื้อหามา  แล้วฝิ่นก็จะสิ้น  คนที่เคยสูบฝิ่นก็จะมิได้คบหากันสูบฝิ่นกินฝิ่นต่อไป  แลทุกวันนี้ลูกค้าพาณิชในกรุงเทพมหานครที่มีสำเภา  เรือเสา  เรือใบ  ไปค้าขายนอกประเทศ  ยังซื้อฝิ่นซ่อนเร้นเข้ามาซื้อขายแก่กัน  อีกอย่างหนึ่ง  ลูกค้านอกประเทศรู้ว่า  ลูกค้าในแว่นแคว้นกรุงเทพมหานคร  จะลอบซื้อขายฝิ่นกันได้อยู่  จะบรรทุกฝิ่นมา  ลอบซื้อลอบขายอยู่เขตปลายแดน  มีผู้รับซื้อส่งต่อกันเข้ามา  ฝิ่นจึงมีเสมอ  อยู่ในแผ่นดินไม่ขาด  แล้วการลักลอบซื้อขายฝิ่นกันดังนี้  ก็ซื้อขายกันเป็นเงินทั้งสิ้น  เงินทองในแผ่นดินออกไปนอกประเทศ  เพราะค้าฝิ่นก็โดยมาก  จำจะห้ามปรามจับกุม  ทำให้เข็ดหลาบจงได้

 

สืบสวนจับฝิ่น

จึงมีราชโองการ  ดำรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม  ให้สืบสวน  คอยสกัดจับลูกค้า  เจ้าของฝิ่นและผู้รับซื้อฝิ่น

ครั้น ณ เดือน ๔ ปีจอ สัมฤทธิศก เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม  ออกไปส่งกองทัพ  ณ  ทะเล  รู้ความว่า  อ้ายจีนเรือพายเข้ามาจอดขายฝิ่นอยู่ที่สามมุขสองลำ  บอกขึ้นมากราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาณรงค์ฤทธิโกศา  พระยาวิเศษศักดิ์ดา  คุมทหารปืนเมืองสมุทรปราการ  ลงเรือรบออกไปติดตามจับจีนเรือพาย  ได้ฝิ่น  ๒๓  ปัก  อ้ายจีนเรือพายให้การว่า  แวะเข้าบ้านแหลมขายฝิ่นให้ผู้มีชื่อที่บ้านแหลม  ๘  ปัก  จึงโปรดให้พระมหาเทพออกไปชำระ  จับได้อ้ายจีนผู้รับซื้อเป็นหลายราย  ซัดต่อกันไป  ได้ให้ข้าหลวงแยกกันไปชำระพวกซื้อฝิ่นตามหัวเมืองฝ่ายทะเลอยู่แล้ว  แต่ในกรุงเทพพระมหานคร  หัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง  ไทยจีนลูกค้าพาณิชก็ยังเอาฝิ่นซ่อนเร้นไว้  แอบซื้อขายแก่กันมีอยู่โดยมาก  แต่ก่อนโปรดให้ข้าราชการตั้งกองชำระ  แต่งคนสืบเสาะจับกุมเอาฝิ่นมาตั้งปรับไหม  เป็นแต่ข้าราชการผู้น้อย  ชำระสืบสาวจับฝิ่น  หาได้ฝิ่นสิ้นไม่  ครั้งนี้  สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวจะทรงชำระ 

จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำรัสสั่ง  ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์  มีกรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นประธาน  และเจ้าพระยาบดินทร์เดชาสมุหนายก  เจ้าพระยาคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม  แลเสนาบดี   ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณช่วยรักษาแผ่นดิน  พร้อมกันให้ช่วยกันสืบสาวชำระเอาตัวเจ้าของฝิ่นให้สิ้นจงได้  ถ้าชำระได้ตัวผู้ที่เอาฝิ่นไว้  ก็ให้มีโทษหลวงโทษปรับไหม  ให้เข็ดหลาบ  ทั้งจะให้ผู้อื่นกลัวเกรงพระราชอาญาอาณาจักร  อย่าให้บังอาจซื้อฝิ่นขายฝิ่นต่อไปอีก  ฝิ่นไม่มีแล้ว  ก็จะได้สิ้นเสี้ยนหนามแผ่นดินไปอย่างหนึ่ง แต่ยังทรงพระอาลัยเจ้าของภาษี  เจ้าสัว  ลูกค้าวาณิช ที่ได้พึ่งพระบารมีอาศรัยแผ่นดินค้าขายหากินมีความสุขมา  จะมีฝิ่นอยู่ก่อนแล้ว  จะเอาฝิ่นมาบอกกล่าว  ก็กลัวจะได้ความผิด  และอายอัปยศ  จะสู้ปกปิดซุ่มซ่อนฝิ่นไว้  โดยใจประมาท ก็จะหาพ้นไม่  คงจะชำระสืบสาวเอาได้  ก็จะต้องพระราชอาญา  ได้ความพินาศฉิบหายยับเยินสูญสิ้นชื่อเสียงไปเสียเปล่า 

สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจะให้โอกาสแก่ผู้ซึ่งมีฝิ่นอยู่นั้น  ให้เอาฝิ่นมาลุแก่โทษ  จะยกโทษหลวงโทษปรับไหมพระราชทานให้ 

เหมือนที่ครั้งปีระกา นพศก โจรกำเริบลักช้างม้าโคกระบือ  ปล้นสดมภ์ย่องเบาทรัพย์สิ่งของชุกชุม  จะให้ตั้งกองจับโจรก็คงได้ตัว  แต่จะต้องทำโทษประหารชีวิต  เฆียนตีจำใส่คุกไว้ตามกฎหมาย  ทรงเห็นว่าโจรทั้งนี้เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะต้องทุกข์โทษชั่วนี้ ชั่วหน้า  จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ประกาศป่าวร้องราษฎรผู้ใดกระทำโจรกรรมหยาบช้ามาแต่ก่อน  ให้มาลุแก่โทษ  บอกความจริงกับแม่กองผู้ชำระ  พวกโจรทั้งปวงรู้สึกโทษตัว  กลัวพระราชอาญา  พากันเข้ามาลุแก่โทษเป็นอันมาก  โปรดให้ยกโทษ  พระราชทานพระราชโอวาทสั่งสอนให้ได้สติรู้สึกตัว จะได้ละเสียซึ่งความชั่วอันกระทำมาแต่หลัง  ถ้ากลับตัวได้  ตามคำโบราณว่า  ต้นคดปลายตรง  ก็คงจะเอาความสุขได้ในชั่วนี้  แลภายหน้า  โดยพระทัยกอร์ปไปด้วยพระมหากรุณาเมตตา  จะทรงสงเคราะห์ไพร่ฟ้าประชากรให้ได้ความสุขต่อไป 

แลผู้ซึ่งมีฝิ่นอยู่นั้นก็เหมือนกัน  ด้วยแต่ก่อนได้ประมาทหลงเกินไปแล้ว  รู้สึกโทษตัวกลัวความผิด  ก็ให้เอาฝิ่นที่มีอยู่มากน้อยเท่าใด  ให้เอาฝิ่นมาลุแก่โทษ  ถ้าผู้ใดเอาฝิ่นมาลุแก่โทษสิ้นโดยดีแล้ว ถึงว่าแต่ก่อนจะซื้อฝิ่นขายฝิ่นมามากน้อยประการใด  ก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกโทษพระราชทานให้  ทั้งโทษหลวงโทษปรับไหม  หาให้มีกับผู้ที่มาลุแก่โทษไม่ 

 

สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว  ขอเสียอย่างเดียวแต่อย่าให้ซื้อฝิ่นขายฝิ่นต่อไป  แลฝาง  พริกไทย  นอรมาศ  งาช้าง  เร่ว  กระวาน  เป็นของต้องห้ามมาแต่ก่อน  ก็ได้โปรดให้ค้าขายกับของอื่น  บรรดาของสินค้ามีอยู่ในแผ่นดิน  ให้ซื้อขายตามสมัครปรารถนา  หาให้ห้ามปรามไม่  จนข้าวเกลือเป็นของสำหรับพระนคร  ก็ได้ทรงผ่อนปรนให้ซื้อขาย  โดยพระทัยปรารถนา  จะให้เจ้าภาษี  เจ้าสัว  ลูกค้าวานิช  พึ่งพระบรมโพธิสมภาร  มีทรัพย์สินบริบูรณ์มั่งคั่งเป็นเศรษฐีขึ้น  จะได้งามพระนครไปภายหน้า  และฝิ่นไม่เป็นของสินค้า  ซึ่งจะเอาฝิ่นเป็นสินค้าซื้อขายแก่กันนั้น  หาชอบไม่  จะทรงห้ามเสียให้เด็ดขาด 

 

ตั้งกองชำระฝิ่น

จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมหลวงรักษ์รณเรศ  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาที่สมุหนายก  เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม  เสนาบดีผู้ใหญ่เป็นแม่กองพร้อมด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย  ตั้งกองชำระฝิ่นที่กรุงเทพพระมหานคร  โปรดให้เจ้าพระยาพลเทพกับพระมหาเทพ  ออกไปตั้งกองสืบสาวชำระฝิ่น  ณ  เมืองเพชรบุรี  เมืองสมุทรสงคราม เมืองสาครบุรี เมืองนครชัยศรี ให้พระยามหาอำมาตย์  พระยาวิสูทโกษา  จมื่นไชยพร  จมื่นอินทรามาตย์  ออกไปตั้งชำระฝิ่น ณ เมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองปราจีน เมืองนครนายก ได้โปรดให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยายมราช  พระยาศรีพิพัฒน์  ให้ชำระฝิ่น ณ  เมืองสงขลา  แลเมืองถลาง  เมืองพังงา  เมืองตะกั่วทุ่ง  เมืองตะกั่วป่า  ก็ได้โปรดให้พระยาไชยาออกไปชำระอยู่แล้ว 

ถ้ากองชำระ  ณ  กรุงเทพพระมหานคร  ชำระไทยจีน  มีชื่อเจ้าของฝิ่นเกี่ยวข้องออกไป  ณ  หัวเมือง  ก็จะมีตราออกไปให้ข้าหลวงจับส่งเข้ามาชำระไต่สวน  ณ  กรุงเทพพระมหานคร   ถ้ากองชำระ ณ  หัวเมือง  ชำระเกี่ยวข้องถึงไทยจีน  ณ   กรุงเทพพระมหานคร   ก็ให้ข้าหลวงบอกหนังสือเข้ามา   จะเอาตัวผู้ซึ่งเกี่ยวข้องส่งออกไปชำระ  ณ  หัวเมือง  ให้ข้าหลวงชำระ ๆ สืบสาวบรรจบถึงกันกับกองชำระ  ณ  กรุงเทพพระมหานคร  สุดแต่จะให้ชำระสืบเอาฝิ่นให้สิ้น  ถ้าผู้ใด ๆ ซึ่งอยู่ในแขวงจังหวัดกรุงเทพพระมหานคร  มีฝิ่นอยู่มากน้อยเท่าใด  ให้เอาฝิ่นมาลุแก่โทษให้สิ้น ถ้าผู้ใดมีฝิ่นอยู่  มิได้เอาฝิ่นเข้ามาลุแก่โทษ  ซุ่มซ่อนฝิ่นไว้  ปรารถนาจะค้าขายหากินในการซื้อฝิ่นขายฝิ่น   ไม่กลัวเกรงพระราชอาญา  ก็เป็นอกุศลผลกรรม  จะให้บังเกิดความวินาศฉิบหาย  จะทรงพระราชดำริให้สืบสาวชำระ  ได้ตัวผู้ที่มีฝิ่น  พิจารณาเป็นสัจจ์แล้ว  จะให้กระทำโทษลงพระราชอาญาโดยสาหัส  ควรจะประหารชีวิต  ก็จะให้ประหารชีวิตเสีย อย่าให้มีผู้เอาเยี่ยงอย่างซื้อฝิ่นขายฝิ่นอยู่ในแผ่นดินต่อไป  ให้เจ้าเมือง  ปลัดยกกระบัตร  กรมการผู้รักษาเมือง  เอาตราสำหรับที่ปิดหมาย  แจกไปไว้กับนายอำเภอ  กำนัน พัน นายบ้าน ราษฎรไทยจีนลูกค้าวานิช ซึ่งตั้งบ้านตั้งเรือน ตึกโรงร้านอยู่  เรือแพให้สิ้นแขวงอำเภอ  ให้จงรู้ทั่ว  อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง 

หมายมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้น ห้าค่ำ จุลศักราช  ๑๒๐๑  ปีกุน (2)   เอกศก   ฯะ

เมื่อประกาศพระราชโองการออกไปตามหัวเมืองแล้ว ปรากฏว่า  ในพระนครและหัวเมืองใกล้เคียง การเก็บกัก การซื้อ การขายฝิ่นเป็นของต้องห้าม แต่ตามหัวเมืองห่างไกล  ยังมีการลอบลักซื้อขายกันอยู่เนือง ๆ เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ  จึงในปีพุทธศักราช ๒๓๘๒ ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่๓  ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียงไว้ว่า

“ครั้นเดือน ๖ ข้างขึ้น  โปรดให้จมื่นราชามาตย์  จมื่นรักษพิมาน  หลวงเสน่หรักษา  ไปชำระฝิ่นหัวเมืองฝ่ายตะวันตก  ตั้งแต่เมืองปราน  ตลอดไปถึงเมืองระนอง  ฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าตลอดไปถึงเมืองถลาง  ได้ฝิ่นดิบ ๓,๗๐๐ เศษ ฝิ่นสุก  ๒  หาบเศษ  ส่งเข้ามาเผาเสียที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์” 

 

การเผาฝิ่นครั้งนั้น  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการเป็นพิธีใหญ่  มีการบวงสรวงประกาศแจ้งเทพาอารักษ์  ขออำนาจคุ้มครองปกป้องรักษาพระราช อาณาจักร 

ความประกาศดังนี้

 “ว่า  นโม  ๓  จบ  แล้วว่า  อิติสิโส  จนจบ  สวากขาโต  จนจบ  แล้วจึงตั้งอาราธนา  ข้าพเจ้าพุทธเจ้า  พญาธรรมปรีชา  หลวงธรรมสุนทร  หลวงเมธาธิบดี   ขุนศรีวรโวหาร  ราชบัณฑิตยาจารย์ทั้งปวงพร้อมกัน  ขอกระทำอัชเฌสนะกิจ  อาราธนาสัจจาธิษฐาน  เฉพาะพระพักตร์พระศรีรัตนไตรยเจ้า ด้วยสมเด็จพระบรมขัติยาธิบดินทร  ปิ่นประชามหาสมมุติ                เทวราชพระบาทบพิตรพระเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงพระราชศรัทธาโพธาภิรัต  หมายมั่นบำเพ็ญพระมหันตมโหฬาราธิการ  บารมีมิ่งมกุฎพุทธการกธรรม  จำนงพระราชหฤไทย  จะให้สำเร็จพระสร้อยสรรเพชญพุทธรัตนอนาวรณญาณ  พระบวรสันดานนั้นชุ่มชื่นด้วยพระขันติ  แลพระเมตตากรุณาคุณ  ทรงพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่อเนกนิกรราชบรรพสัษย์  ทรงปฏิบัติในเทศกุศลกรรมบททศพิธราชธรรม  มอบพระองค์เป็นโยมอุปฐากแก่พระรัตนไตรย  เอาพระทัยใส่ในกิจศาสนูปถัมภก  ยกย่องพระบวรพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนาการ  รุ่งเรืองขึ้นทั้งฝ่ายคันถะธุระแลวิปัสนาธุระ ทรงสร้างพระไตรปิฎก พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์วิหารอุโปสถรจนาไว้  เป็นที่ไหว้ที่สการบูชา  แลทรงถวายนิตยภัตรคิลานะภัตร  ไตรจีวร  แก่พระสงฆ์ทุก ๆ พระอารามตามสมควรมิได้ขาด  ทรงพระกรุณาพระราชทานส่วนพระราชกุศลทั้งปวงนี้  ให้ทั่วไปแก่เทพามนุษย์อินทร์พรหมยมยักษ์  ตั้งแต่อารักษ์เทพยดาขึ้นไป  ตลอดถึง ภวัคพรหม  เบื้องขวานั้นตลอดไปในอนันตจักรวาฬ  เบื้องต่ำตลอดจนถึงสัตว์อเวจี  เทพเจ้าทั้งหลายผู้มีทิพเนตร  ทิพโสต  จงมีจิตรโสมนัสปราโมชยินดีปรีดา  อนุโมทนาส่วนพระราชกุศลที่ทรงพระราชอุทิศเป็นนิจดังนี้  จงทุก ๆ พระองค์  จงบอกกันต่อ ๆ ไปที่ยังไม่ได้อนุโมทนารับเอาส่วนพระราชกุศลผลทานนาทิบารมี  บัดนี้ 

 

ทรงพระราชดำริกอปรด้วยพระกรุณาคุณ  ทรงเห็นว่า  ข้าราชการและราษฎรชายหญิง  ในกรุงนอกกรุงทั่วเขตรแดน  กระทำทุจริตคบกันสูบยาฝิ่นสิ้นทรัพย์สิ่งของทองเงินเครื่องอุปโภคบริโภค  เสียรูปพรรณสัณฐานจนใช้มิได้  ก็มีเป็นอันมาก  ทรงพระราชดำริจะให้เป็นหิตานุหิตะประโยชน์ไปในภายภาคหน้า  จึงทรงพระกรุณา โปรดฯ ให้เก็บเอายาฝิ่นให้สิ้นเชิง กระทำฌาปนกิจเผาเสีย มิให้ข้าราชการแลราษฎรสูบต่อไปในเบื้องหน้า  จึงทรงพระกรุณาให้ข้าพระพุทธเจ้า  อาราธนาอัญเชิญเทพยเจ้าทุกสถาน  

สัคเค  กาเม  จรูเป  ข้าพระบาท  ขอเชิญเทพยเจ้า  อันสถิตย์ในทิพพิมานเมืองสวรรค์ ชั้นฉ้อกามาพจร แลโสฬศมหาพรหมทั้งสิบหกชั้นฟ้า

คิริสิขรตเฏ ขอเชิญทั้งภูมิเทพยดาอันสถิตย์ในยอดคีรี  มีพระมเหศร  เป็นอาทิ  แลเทพยเจ้าอัน  สิงสถิตย์ในเหวหุบห้วยละหาน 

จันตลิก เขวิมาเน  ขอเชิญทั้งอมรเทพย์  อันสิงสถิตย์ในอากาสัฏฐกะพิมาน  ลอยอยู่ในอัมพรวิถีประเทศ  ทีเปรฏเฐจคาเม  ขอเชิญทั้งเทพยเจ้าอันสิงสู่อยู่ในขอบเขตรทวีปใหญ่และทวีปน้อยทุกถิ่นฐานบ้านแลนิคมชนบท แลราชธานีบุรีใหญ่น้อยนานา 

ตรุวนาคหเน  ขอเชิญทั้งภูมิเทพยดาอันสิงสถิตย์ในต้นพฤกษาลดาวัลย์อรัญประเทศป่าระหงและป่าชัฏ 

เคหวัตถุมหิ  ขอเชิญทั้งอารักษ์เทพยเจ้าอันสถิตย์ในเคหสถาน เป็นต้น คือ พระเสื้อเมือง  พระทรงเมือง  และเทพยดาอันรักษาเสวตรบวรฉัตร และเทพยเจ้าอันบริรักษ์ในจังหวัดพระราชนิเวศน์มหาสถาน 

เขตเต ขอเชิญทั้งอารักษ์เทพยเจ้าอันบริรักษ์อภิบาลในที่นาแลที่สวน 

ขอเชิญเทพยเจ้าทั้งปวงประชุมชวนกันมาสโมสรสันนิบาต  ในประเทศที่นี้ให้พร้อมเพรียงกัน  อย่าให้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในกรุงเทพพระมหานคร  และนานาประเทศทั้งปวง  ล่วงลักเอายาฝิ่นเข้ามาจำหน่ายซื้อขายในกรุงเทพพระมหานครนี้เป็นอันขาด  ถ้าบุคคลผู้ใดมิได้ถือสัตย์กตัญญูต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแลฝ่ายพระราชอาณาจักรขืนลอบลักเอายาฝิ่นเข้ามาซื้อขาย” (ความหมดเพียงเท่านี้)

เหรียญพระพุทธเสรฏฐมุนีเฉลิมพระเกียรติ

                                                        (ด้านหน้า)                                         ( ด้านหลัง)

 

พุทธศักราช  ๒๕๔๖  มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างเหรียญ “พระพุทธเสรฏฐมุนี” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ  ๘๐  พรรษา  เป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาล ในการปราบปรามยาเสพติด  ให้หมดสิ้นไปจากประเทศ  ประกอบด้วย  เหรียญทอง เหรียญเงิน  และทองแดง  ส่วนหนึ่งได้นำขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  อีกส่วนหนึ่งมูลนิธิฯ ได้นำออกเผยแพร่แก่ประชาชน  โดยให้เช่าไว้บูชาเป็นสิริมงคล เพื่อนำรายได้เป็นทุนในการเผยแพร่ พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า   สืบต่อไป