ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




มองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม

มองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3
โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
(หมวดการค้า)

_________________________

โดย

หม่อมหลวงวัลย์วิภา  บุรุษรัตนพันธุ์

สถาบันไทยคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

1. ความนำ : แนวความคิดเรื่อง โลกาภิวัตน์ (Globalization)

                        โลกาภิวัตน์   คือ  การทำให้เป็นหนึ่งเดียวกันในกระบวนการที่เรียกว่า Information Revolution ธรรมชาติของโลกาภิวัตน์ คือ เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน เกิดการเคลื่อนย้ายทุน เกิดการไหลท่วมท้นของข้อมูลข่าวสารและวิธีการติดต่อสื่อสาร แต่ถ้าหากสังคมใดมีศักยภาพ มีวิธีคิดที่ดีรู้ทันโลกาภิวัตน์ ก็จะสามารถต้านโลกาภิวัตน์ได้ เรียกว่าเกิดกระแส Localization ในสังคมเป็นกระแสที่ไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่มาจากภายนอก แต่มีการพิจารณาและเลือกรับว่ามันเหมาะสมหรือไม่

                        (สรุปความจาก a day weekly ป.1ฉ.34 (7-13 ม.ค.48) “ทิศทางประเทศไทย 2548”  และการแสดงปาฐกถาพิเศษ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเรื่อง “ทศวรรษที่ท้าทายแห่งการพัฒนาประเทศไทย” ในการประชุมประจำปี 2548 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 24 มิ.ย. 2548)

 

2. โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม

                        2.1 จักรวรรดินิยมอังกฤษ

                        การศึกษาเรื่อง “มองเมืองไทยกับต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 3: โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม” นี้   เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับอิทธิพลภายนอก   ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปรกติของยุคสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง  อิทธิพลนั้นก็คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 19    ซึ่งเป็นคริสต์ศตวรรษที่มีการค้าระหว่างประเทศเป็นตัวจักรกลที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ซึ่งรับเอาเรื่องการแบ่งงานกันทำมาเป็นหลักการ และอีกทั้งในแง่ของวิธีการ ซึ่งกระบวนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะถูกส่งจากศูนย์กลาง คืออังกฤษผู้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้วตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก ผลที่ตามมาคือการขยายตัวอย่างยิ่งของเศรษฐกิจซึ่งมีระบบการค้าเสรี ซึ่งไม่มีการผูกขาดและมีระบบจัดเก็บภาษีที่แน่นอนเป็นสัญลักษณ์

                        เพื่อความเข้าใจเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซึ่งมีผลกระทบต่อเมืองไทย ในตอนต้นรัตนโกสินทร์ หรือจะกำหนดให้เฉพาะเจาะจงตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367- 2394) ซึ่งผู้นำประเทศหากรู้เท่าทันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมจะสร้างวิธีการตอบสนองที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติของตนเอง วิธีการเช่นนี้ตรงกับที่สมัยใหม่เรียกกันว่าเป็นวิธีการสร้าง Value Creation ผู้เขียนได้ศึกษาวิจัยพบว่ารัชกาลที่ 3 ทรงมีสิ่งนี้เมื่อได้ทำวิจัยเรื่อง “การเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 19" (1) เพราะได้ทรงนำเรื่องการส่งเสริมการปลูกอ้อยและแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นสินค้าที่เกิดจากการแปรรูปตัวแรกของไทย มาเป็นสิ่งทดแทนหรือปรับโครงสร้างการทำมาหากินของคนไทย เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจของเราถูกกระทบจากอิทธิพลภายนอกหรือกระแสเศรษฐกิจโลก ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิมก็ได้ ดังนั้นการนำเสนอเรื่อง “มองเมืองไทยกับต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 3 : โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม” ในครั้งนี้ จึงมั่นใจที่จะนำเรื่องตัวอย่างเรื่องของการค้าน้ำตาลในสมัยรัชกาลที่ 3 มาเป็น “สื่อกลาง” โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยเรื่องดังกล่าว

 

                        2.2 เป้าหมายการเป็นชาตินายทุนของอังกฤษ

                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อังกฤษเข้ามาเปิดสัมพันธไมตรีกับไทยตามแผนดำเนินการด้านการค้า โดยพยายามจะทำให้ไทยรับนโยบายเศรษฐกิจแบบแบ่งงานกันทำ ซึ่งเป็นหลักการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามแผนดำเนินการนี้ วิธีการก็คือต้องพยายามทำให้ไทยทำสนธิสัญญาทางการค้า ซึ่งในสนธิสัญญาจะมีการกำหนดรูปแบบของการค้า และกำหนดอัตราภาษีอากรที่แน่นอน อังกฤษจึงส่ง ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด เข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ความหมายของการทำสนธิสัญญาทางการค้า และภาระหน้าที่ของทูตอังกฤษคนแล้วคนเล่าที่เข้ามาในช่วงเวลานั้น จึงเป็นวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายแห่งความเป็นชาตินายทุนของอังกฤษที่ถือนโยบายเปิดการค้าเสรีและแบ่งงานกันทำเป็นสำคัญ

                        ผู้เขียนจะหยิบยกเอกสารของ ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด มาเป็นหลักฐานสำคัญและแสดงรายละเอียดในแผนดำเนินงานของจักรวรรดินิยมอังกฤษ เพื่อให้เห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิมนั้นกระทบต่อเมืองไทยอย่างไร ดังนี้

 

                                    “ในจดหมายการเมืองลงวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1821 รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แจ้งให้ราชสำนักทราบ มีใจความว่าเมื่อได้พิจารณาถึงสถานการณ์ด้านการค้าในอังกฤษและอินเดียที่ซบเซาลงแล้ว รัฐบาลจึงได้พิจารณาเห็นสมควรจัดส่งตัวแทนไปยังกรุงสยามและญวน เพื่อขอริเริ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศดังกล่าว เพื่อให้มีความมั่นคงและแน่นอนยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาแต่เดิม...

                                    ในการที่จะยั่วยุให้มีการปฏิบัติเช่นนั้น มีข้อพึงสังเกตอยู่ว่า โดยที่การค้ากับประเทศเหล่านั้นของชาวยุโรปนับว่าเป็นกิจการสำคัญในการติดต่อไปมาค้าขายกับเอเชียในสมัยก่อน และในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอินเดีย ฉะนั้นจึงไม่มีข้อสงสัยเลยในข้อนี้  ยกเว้นแต่ว่าควรจะได้ขยายกิจการในด้านนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้มีการปรับปรุงการเดินเรือให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ประกอบกับพ่อค้าชาวอังกฤษในปัจจุบันเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความรักในการผจญภัยอยู่แล้ว อีกประการหนึ่ง ประเทศเหล่านั้นก็มีจำนวนประชากรอย่างน้อยถึง 30 ล้านคน มีแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ส่วนหนึ่งส่วนใดในโลก ดินแดนเหล่านี้ยังไม่มีการริเริ่มประกอบอุตสาหกรรม จึงเป็นตลาดอันดีสำหรับสินค้าประเภทผ้าแพรพรรณ ทั้งชนิดเลวและที่มีราคาแพงจากอินเดียและจีน จากความสำเร็จในกิจการค้ากับฮินดูสถาน จึงอาจพิจารณาได้ว่า น่าจะได้รับความสำเร็จ เช่นเดียวกันในหมู่เกาะเบื้องบูรพาทิศและจีน เชื่อว่าเมื่อสามารถกำจัดความกลัวและความริษยา ซึ่งยังครอบงำความรู้สึกนึกคิดของรัฐบาลประเทศเหล่านี้เสียได้แล้ว ก็คาดว่าตลาดสินค้าประเภทขนสัตว์ ผ้าม่าน เหล็กเส้นดิบ ฝิ่นเบงกอล และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ จะต้องขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางอย่างแน่นอน สิ่งที่จะตอบแทนกับสินค้าเหล่านี้ เท่าที่ได้สังเกต  รู้สึกว่าสยามอาจส่งสินค้าที่มีค่าของตนไปยังยุโรปและเอเชียตะวันตก สินค้าที่อาจส่งไปได้ก็มีเช่น น้ำตาล พริกไทย  เกลือ สำหรับป้อนให้แก่ตลาดในหมู่เกาะอินเดีย และส่งไม้สักไปยังอาณานิคมของอังกฤษ ในการนี้ญวนอาจส่งไหมดิบซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เข้ามาสมทบได้ (ญวนเป็นชาติที่ผลิตสินค้านี้ได้มากที่สุดในเอเชีย) เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ผลิตของอังกฤษสามารถเขยิบตนขึ้นมาให้ทัดเทียมกับผู้ผลิตในยุโรป โดยอาศัยการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการค้าให้ดีขึ้น….การที่จีนได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการผู้ค้าขายกับอังกฤษและอินเดีย ย่อมจะเป็นเสมือนสิ่งยั่วยุให้แก่รัฐบาลสยาม ซึ่งมีข้อสงสัยที่จะยอมรับที่จะทำการค้ากับเรา ความขยันหมั่นเพียรเฝ้าขอทำการค้าด้วย ย่อมจะทำให้รัฐบาลของประเทศนั้นรับที่จะค้ากับเรามากขึ้น โดยคงจะขอให้เราทำการค้าด้วยแบบเดียวกับที่เราได้ปฏิบัติอยู่กับประเทศจีน ฉะนั้น เราจึงได้มีคำสั่งในทำนองนี้ไปยัง ดร.ครอว์ฟอร์ด เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1821...” (2)

 

3. พระราชทัศนะในรัชกาลที่ 3 ต่อกระแส “โลกาภิวัตน์”

                        3.1 บทบาทหน้าที่ราชการของรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งทรงกรม

                        การทรงกรมของเจ้านายหมายถึงการได้รับพระราชทานมอบหมายให้มีบทบาทรับผิดชอบในทางราชการ  เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ยังทรงกรมเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 2 นั้น ทรงได้รับพระราชทานมอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลทางด้านการค้าพาณิชย์และการสัมปทานของหลวงอันอยู่ในกรมท่าสังกัดกรมพระคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระหน้าที่ในการระดมผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นสินค้าผูกขาดที่สำคัญ อย่างเช่น พริกไทย และลูกกระวาน เป็นต้น พื้นที่รับผิดชอบคือเขตหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก

                        น้ำตาล พริกไทย  เกลือ และไม้สัก เป็นตัวสินค้าที่ ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด ระบุไว้ในเรื่องการแบ่งงานกันทำว่าเป็นสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง ในขณะที่สินค้าออกของไทยประเภทของป่าทั้งหลาย   เช่น  เขากวาง  หนังควาย  หนังแรด กระดูกเสือ ทำรายได้ให้เพียงปีละ 4,400 บาทเท่านั้น (3)    และมีการริเริ่มส่งน้ำตาลออกในสมัยต้นรัชกาลที่   2    ซึ่งเมื่อมาถึงปี พ.ศ. 2464 ครอว์ฟอร์ดระบุว่ามีปริมาณถึง 80,000 หาบต่อปี (4) (ราคา 8.50 บาทต่อหาบในปี พ.ศ. 2393) หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก อันได้แก่ หัวเมืองฉะเชิงเทราถึงจันทบุรี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของพระองค์ท่าน ปรากฏเป็นหัวเมืองที่มีการบุกเบิกเรื่องการเพาะปลูกอ้อยและแปรรูปทำน้ำตาลทรายนอกเหนือจากเขตเพาะปลูกที่อยู่นอกเขตนารอบราชธานีซึ่งเป็นเขตอุดมสมบูรณ์มาแต่เดิม ได้แก่ นครชัยศรี ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม และเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่ ซึ่งมีการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง ด้วยการขุดคลองหลายสายในพื้นที่นั้นในรัชสมัยของพระองค์ท่าน

                        ส่วนการค้าในสมัยนั้น นอกจากการค้าของหลวงคือการค้าสำเภาไทย-จีนด้วยระบบบรรณาการ ซึ่งหลวงโดยพระคลังสินค้าแต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่สามารถค้าขายได้ โดยมีระบบการเกณฑ์แรงงานและข้าวของส่วนเกิน เช่น ไม้ฝาง รง   ครั่ง งาช้าง  ช้าง รังนก รองรับต่อมิติการค้าแบบนี้ ในขณะเดียวกันกลุ่มเจ้านายและขุนนางชั้นสูงก็มีโอกาสเข้าสู่ระบบการค้าของเอกชน เพื่อตอบสนองสินค้าตัวใหม่ที่มีกระบวนการผลิตเปลี่ยนแปลงไป เช่น ต้องมีการลงทุน มีการแปรรูป มีการเสี่ยงทางธุรกิจ และต้องมีความรู้ด้านการตลาดเป็นองค์ประกอบในการค้า ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีเรือสำเภาหลวงอยู่   2   ลำคือมาลาพระนคร   และเหราข้ามสมุทร   แต่มีเรือของเอกชนจำนวนมาก ซึ่งมีเจ้านายและขุนนางดำเนินการอยู่เบื้องหลังขุนนางพ่อค้าจีนอีกชั้นหนึ่ง    คือเรือกิมยกเสง  และ กิงยงหลี ของพระยาศรีพิพัฒน์ เรือกิมซุนฮวด และกิมซุนเฮง ของหลวงอภัยพิพิธ เรือสำเภาดาดฟ้า 2 ชั้นของหลวงสุรธร เรื่องซุนหองของจีนเกา เรือซุนหะของพระองค์เจ้าทินกรในรัชกาลที่ 2 (5) เป็นต้น  การค้าสำเภาของเอกชนนี้ ทางรัฐบาลจีนถือว่าเรือของไทยที่ทำการค้ากับจีนอยู่ในฐานะเดียวกับเรือสำเภาจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือสำเภาไทยที่มีลูกเรือ  ผู้ควบคุมเรือ และยิ่งไปกว่านั้น คือมีขุนนางพ่อค้าไทยเชื้อสายจีนเป็นผู้ดำเนินการค้าและขนส่ง รวมถึงการเป็นนายหน้าดำเนินการแทนเจ้านายและขุนนางไทย อีกทั้งเรือไทยเหล่านี้ออกแบบและสร้างอย่างเดียวกันกับเรือหัวแดง และเรือหัวเขียวเรือของจีน และด้วยโอกาสของการทำการค้าระบบเอกชนนี้เองที่ทำให้ทรงดำเนินอยู่ในฐานะเจ้าสัวพ่อค้าใหญ่ที่มีพระราชทัศนะในการกำหนดนโยบายการค้าจนสามารถมีเงินถุงแดง หรือเงินส่วนที่ได้กำไรจากการค้าขายนำมาเป็นต้นทุนในการสร้างชาติต่อไป

                        เมื่อ ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด ทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญาพระราชไมตรีกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2364 ได้เข้าเฝ้าฯ เจ้านายพระองค์เดียวถึง 4 ครั้ง คือพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

                        เหล่านี้เป็นช่องทางการเปลี่ยนแปลงสินค้าออกอันโยงมาถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำมาหากินที่สามารถตอบสนองเศรษฐกิจโลกได้

                        3.2 รัชกาลที่ 3 กับสถานการณ์บ้านเมือง

                               3.2.1  สถานการณ์ณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ

                                          3.2.1.1 ตอนต้นรัชกาลที่ 3 ราวพ.ศ. 2367 อังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญากับฮอลันดา เรียกว่า The Anglo-Dutch Treaty of 1824 มีสาระสำคัญเรื่องการแบ่งเขตอิทธิพลและอำนาจของชาติในบริเวณแถบหมู่เกาะอินดีสตะวันออก ทำให้อังกฤษมีเขตอิทธิพลทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่บริเวณแหลมมลายู เหนือช่องแคบมะละกาทั้งหมด  รวมทั้งเมืองมะละกาและสิงคโปร์ด้วย

                                    3.2.1.2 ชัยชนะของอังกฤษในสงครามพม่าครั้งแรกในพ.ศ. 2369

                                    3.2.1.3 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2384 ฮ่องกงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษภายหลังอังกฤษชนะจีนในสงครามฝิ่น และแนวคิดสำคัญในการตั้งเมืองฮ่องกงก็คือให้คนต่างชาติต่างภาษาและวัฒนธรรมทำมาหากินร่วมกันได้ (6)

                        ด้วยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ชี้ชัดถึงอำนาจและอิทธิพลของอังกฤษ อย่างน้อยที่เห็นก็คือชัยชนะของอังกฤษเหนือชาติอำนาจเดิมทั้งจีนและพม่า และการคืบคลานเข้าใกล้พระราชอาณาจักร จึงเป็นที่มาของพระราชทัศนะในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพที่ว่า

“...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว.....”

                                                  (พระราชดำรัสในรัชกาลที่ 3)

 

3.2.2 การค้าผูกขาดสมัยต้นรัชกาลที่ 3

ตอนต้นรัชสมัย นโยบายการผูกขาดสินค้าได้รับการผ่อนผันลง  ร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่  กล่าวไว้ว่า “...พระองค์ได้ทรงพระกรุณาสั่งอนุญาตให้ทุกชาติที่มาเยี่ยมสยามได้ขายและซื้อ นำออกและนำเข้า กับประชาราษฎรทุกคนที่ตนคิดว่าสมควร โดยไม่มีข้อขัดขวางเพียงแต่ต้องจ่ายภาษีศุลกากรเท่านั้น...(7)

แม้รัชกาลที่ 3 จะมีนโยบายผ่อนผันการผูกขาดในตอนต้นรัชกาลอย่างไร แต่ในความเป็นจริงการค้าด้วยระบบผูกขาดของพระคลังสินค้ายังมีอยู่ นี่คือเหตุผลที่ทำให้อังกฤษต้องการเข้ามาทำสัญญาการค้ากับไทยเพื่อขอลดภาษีศุลกากรและขอให้ทำการค้าอย่างมีระบบที่แน่นอน เบอร์นีได้บรรยายถึงอุปสรรคของการค้าที่เกิดจากระบบผูกขาดของพระคลังสินค้า และอำเภอใจของข้าราชการผู้ใหญ่ ดังนี้

 

“ในปัจจุบันนี้ ไม่มีคนในกรุงเทพฯ คนใดกล้าซื้อสินค้าจากพ่อค้าอังกฤษหรือจ่ายสินค้าให้พ่อค้าอังกฤษโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพระคลังล่วงหน้าเสียก่อน และก็เป็นที่รู้กันอยู่ดีแล้วว่า พระคลังจะไม่อนุญาตให้ใครซื้อขายเลยถ้าหากตัวท่านพระคลังหรือหากขุนนางเล็ก ๆ ในบังคับบัญชาของท่าน หรือพ่อค้าของพระเจ้าอยู่หัวต้องการจะขายของหรือซื้อของใคร ๆ ยกเว้นแต่พ่อค้าชาวยุโรปก็อาจจะซื้อน้ำตาลจากตลาดได้ในราคา 8-9 บาทต่อหาบ พริกไทยซื้อจากตลาดราคา 14 บาทต่อ 1 หาบ ซึ่งรวมภาษี 3 บาทแล้ว แต่ถ้าพระคลังขายก็จะต้องเป็น 18 บาท...พ่อค้าอังกฤษหรือพ่อค้าสุรัตไม่อาจจะขายสินค้าได้เลย ต้องรอให้พระคลังและข้าราชการของท่านเลือกเสียก่อนเสมอ ถ้าต้องการสิ่งใดก็จะไม่ยอมให้ราคายุติธรรม แล้วก็ปล่อยให้พ่อค้ารอวันแล้ว วันเล่าเป็นเวลา 1 เดือนหรือ 6 อาทิตย์ แล้วก็บังคับให้พ่อค้าขายในราคาที่ตนต้องการ หรือไม่ก็ไม่ยอมให้พ่อค้าขายได้กำไรเลย...” (8)

 

นอกจากนี้ยังรายงานเรื่องเรืออเมริกันชื่อไซเรนเข้ามาซื้อน้ำตาล และมีอุปสรรคจากคนของพระคลังว่า “...ในสมัยก่อน ๆ เมื่อเรืออเมริกันเดินทางเข้ามาในฤดูเดียวกันนี้เอง ก็สามารถซื้อน้ำตาลได้เต็มเรือภายใน 2 วัน แต่เรือไซเรนถูกกักไว้ 2 เดือนแล้ว เนื่องจากคนของพระคลังแกล้งทำให้ช้าไป...”(9) ก็เพราะการค้าด้วยระบบนี้ ทำให้พระคลังสินค้า ซึ่งเปรียบเสมือนคนกลางได้กำไรจากการค้าน้ำตาลถึง 84%  โดยคำนวณจากรายงานของเบอร์นีที่ว่า “ค่าปากเรือ 1,136 บาท ค่าความนิยมให้เจ้าเมืองปากน้ำและขุนนางอื่น ๆ 162 บาท ค่าภาษีสินค้าออกซึ่งเป็นน้ำตาล 2,136 หาบ, 3,200 บาท รวม 4,502 บาท”(10)

ก็ด้วยเหตุนี้ สนธิสัญญาเบอร์นีระหว่างไทยกับอังกฤษที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2369 สองปีต้นรัชกาลนั้น อังกฤษมุ่งหวังจะให้ยกเลิกระบบพระคลังสินค้า และกำหนดอัตราภาษีแน่นอน โดยในสัญญาข้อที่ 1 ระบุว่า “...อนุญาตให้พ่อค้าไทยและพ่อค้าอังกฤษซื้อขายกันเองโดยเสรีและตามความสะดวก รัฐบาลจะเก็บภาษีจากพ่อค้าอังกฤษเป็นอย่างเดียวตามความกว้างของปากเรือ โดยกำหนดดังนี้ เรือสินค้าที่บรรทุกสินค้ามาขายจะเรียกเก็บวาละ 1,700 บาท เรือสินค้าที่ไม่ได้บรรทุกเข้ามาขายจะเรียกเก็บวาละ 1,500 บาท”(11)

สนธิสัญญาเบอร์นี่จึงเป็นเสมือนการผ่อนปรนผลประโยชน์ทางการค้าและการเมืองระหว่างไทยและอังกฤษบางส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้วสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาฉบับแรกในยุคโลกาภิวัตน์แบบดั้งเดิม นัยสำคัญก็คือ การทำให้ไทยรับนโยบายแบ่งงานกันทำอย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นแล้ว

 

4. รัชกาลที่ 3 ทรงรู้ทันโลกาภิวัตน์

กระแสโลกาภิวัตน์ดั้งเดิม ซึ่งมีชาติอังกฤษเป็นศูนย์กลางของอำนาจ แผ่ขยายอิทธิพล และเป็นผู้จัดระเบียบโลกโดยกำหนดให้ชาติต่าง ๆ มีส่วนร่วมกับระบบเศรษฐกิจโลก โดยวิธีการแบ่งงานกันทำ เปิดการค้าเสรี และแบ่งผลประโยชน์ด้วยการกำหนดประเภทและอัตราภาษีที่แน่นอน มีผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยโดยตรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกระบบการค้าต่างประเทศแบบเดิมซึ่งเป็นที่มาแห่งรายได้หลักของไทย

ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นย่อมมีต่อเรื่องการอพยพเคลื่อนย้ายคนและแรงงาน การเคลื่อนย้ายเจ้าทุน สินค้า และการบริการตลอดจนเกิดการเผยแพร่วัฒนธรรม ข้อมูลข่าวสาร และวิธีการติดต่อสื่อสาร ผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ย่อมเป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาสขึ้นอยู่กับยุทธวิธีในการปรับเปลี่ยน ซึ่งในที่นี้ก็คือการรู้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์เพียงใด พระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 3 จึงอยู่ที่ว่าทรงรู้เท่าทัน “โลกาภิวัตน์” ทรงแก้ไขปรับเปลี่ยนหาสิ่งทดแทนค่า หรือถ้าเป็นสมัยปัจจุบันเราอาจตั้งคำถามว่ารัชกาลที่ 3 ทรงมีนวัตกรรมหรือ Value Creation อย่างไร และทดลองหาความสัมพันธ์ระหว่างมูลเหตุและมูลค่าจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

ผู้เขียนจะนำเสนอด้วยตารางความสัมพันธ์ และให้รายละเอียดบางเรื่องประกอบไว้ ดังนี้

 

มูลเหตุ

จากกระแสโลกาภิวัตน์

มูลค่า

 

ลบ

บวก

มาตรการเสริม/สิทธิประโยชน์

การอพยพการเคลื่อนย้ายเงินทุนสินค้าและบริการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

-ยกเลิกระบบการค้าต่าง

  ประเทศ ซึ่งผูกขาดโดย

  พระคลังสินค้า อันทำ

  รายได้หลักเข้าพระคลัง

 

+การค้าสำเภาเอกชนรุ่งเรือง

=สำเภาหลวง

=สำเภาเอกชนเพิ่มจำนวน

+สร้างเรือพาณิชย์แบบฝรั่ง

 =สินค้าของป่า ของหา

    ยาก ของต้องห้าม

 

=ค่าเหยียบปากเรือและ

   อำนาจข้าราชการลด

+เลือกตัวสินค้าใหม่ที่มี

กระบวนการผลิต-การ

ค้า-การตลาด (คือ

น้ำตาลทราย)

+ตั้งระบบเจ้าภาษีนายอากร (ภาษี 38 อย่าง)

 

+ได้ค่าเพิ่มจากการเก็บ

ภาษีชั้นใน

+สร้างระบบควบคุมคนจีน

(คุ้มครองและให้ความมั่นคง

ทางสังคม)

-ข้อตกลงทางการค้ากับ

  ชาติตะวันตก

+ผ่อนปรนผลประโยชน์

เช่นยอมรับอำนาจของไทยเหนือเมืองประเทศราชทางตอนใต้

 

การอพยพเคลื่อนย้ายคน/แรงงาน

-เกิดการอพยพหลั่งไหลของคนจีน

    -เกิดอั้งยี่, ตั้วเหีย (เช่นที่

     ฉะเชิงเทรา)

 

 

 

+ใช้แรงงานจีนทดแทน

แรงงานจากระบบ

มูลนาย-ไพร่ จนถึงการค้าและการตลาด

+ระบบควบคุมคนจีน

   -ผูกปี้/กรมท่าซ้าย

   -ระบบเจ้าภาษีนายอากร

   -กรมการจีน

+ได้มูลค่าเพิ่มจากศิลปะจีน

 

+พัฒนาเมือง

 

การขยายและการเผยแพร่วัฒนธรรม/ความศิวิไลซ์

-ความบาดหมางกับต่างชาติ เช่น กรณีนายฮันเตอร์)

 

 

 

+การสร้างศิลปะแนวพระราชนิยม

+เสริมสร้างเอกลักษณ์ไทย

(ความรู้ความสามารถ ความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งเรื่องสุขภาพ วิถีชีวิต)

+ลดช่องว่างทางวัฒนธรรมไทย-จีน

 

ตารางประเมินความสัมพันธ์ระหว่างมูลเหตุและมูลค่าจากกระแสโลกาภิวัตน์ (ร.3 ทางรู้ทันโลกาภิวัตน์)

อธิบายประเด็นที่น่าสนใจในตาราง

                        1) การตั้งระบบเจ้าภาษีนายอากร (ภาษี 38 อย่าง) ในรัชกาลที่ 3 : เมื่อสนธิสัญญาเบอร์นีบังคับให้รัฐบาลไทยต้องเลิกการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้านั้น เรื่องนี้มีผลกระทบต่อรายได้หลักเป็นอย่างยิ่ง บ้านเมืองต้องรับภาระอย่างหนักเกี่ยวกับการคลัง วิธีแก้ปัญหาคือต้องหารายได้ทดแทนการผูกขาดด้วยวิธีอื่น นั่นคือการผูดขาดการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งมีลักษณะคล้ายระบบผูกขาดการค้าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนมือผู้ผูกขาดจากพระคลังสินค้าไปสู่กลุ่มเอกชนที่หลวงเป็นผู้เลือกขึ้นมา การตั้งภาษีอากร 38 อย่าง ซึ่งหมายถึงระบบเจ้าภาษีนายอากรจึงเกิดขึ้น แต่ถ้าหากพิจารณารายการภาษีอากร  แต่ละอย่างจะเห็นว่ามีความซ้ำซ้อนและซับซ้อน ดังจะจำแนกให้เห็นจากกรณีการเพาะปลูกอ้อยและทำธุรกิจค้าน้ำตาล

                        เริ่มตั้งแต่การปลูกอ้อย จะต้องเสียอากรค่าที่ดิน เรียกว่าอากรสมพัตสร บัญชีเงินภาษีอากร ระบุว่าค่าอากรสมพัตสร 3 ปีในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นมูลค่าถึง 36, 726 บาท (12)    สำหรับธุรกิจการทำน้ำตาล จะมีภาษีต่าง ๆ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เรียกกันว่าเป็นภาษีชั้นใน ดังนี้

                        ภาษีฟืน  เรียกเก็บจากหลงจู๊โรงน้ำตาล ตลอดจนเจ้าของเตาตามขนาดกระทะที่ใช้กับเตาใบนั้น แต่ละเมืองเก็บไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับอากรสมพัตสร เช่นที่เมืองฉะเชิงเทรานั้น เก็บ  1 ชั่ง 5 ตำลึงสำหรับเตากระทะใหญ่ และ 12 ตำลึง 2 บาท สำหรับกระทะเล็ก เป็นต้น มีหลักฐานต่อมาในรัชกาลที่ 4 ว่า ภาษีฟืนนี้ขึ้นกับกรมพระคลังสินค้า กำหนดให้ส่งภาษีแก่เจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้าปีละ 4 งวด ส่งขึ้นพระคลังสินค้าในพระบรมมหาราชวัง ปีละ 4 งวดรวม 100 ชั่ง ส่งขึ้นพระคลังสินค้าในพระบวรราชวัง 10 ชั่ง ส่งขึ้นพระคลังเดิมและวัดพระแก้ว รวม 40 ชั่ง ส่งพระเจ้าลูกเธอ 5 รายอีก 11 ชั่ง รวมทั้งสิ้น 161 ชั่ง (13)

                        ภาษีน้ำอ้อย ขึ้นกับพระคลังสินค้า เรียกเก็บจากโรงงานน้ำตาลและราษฎรทั่วไป อนึ่ง น้ำอ้อยเหลวที่นำไปทำน้ำตาลเมา แล้วนำไปกลั่นทำสุรา จะถูกเรียกเก็บอากรสุราด้วยอีกอย่างหนึ่ง

                        ภาษีน้ำตาลทราย มีผู้ประมูลผูกขาดเพียงเจ้าเดียวใน 37 หัวเมือง ขึ้นอยู่กับพระคลังสินค้าอีกเช่นกัน มีหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น ให้รายละเอียดว่า หลวงพิทักษ์ทศกรรับประมูลทั้งหมดเป็นเงิน 660 ชั่ง ส่งเงินขึ้นพระคลังสินค้า 618 ชั่ง ส่งเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าจำนวน ได้แก่ พระราชวังบวร พระศรีสุลาไลย กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ กรมหลวงรักษ์รณเรศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และเจ้าคุณวัง รวมอีก 42 ชั่ง (14)

                        การผูกขาดด้วยวิธีใหม่นี้จะมีผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อการค้าน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่เป็นที่ต้องการของฝรั่ง สนองตอบต่อการยังคงให้ระบบผูกขาดมีต่อไป ด้วยวิธีนี้เอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน และบ้างก็มีเจ้านายเป็นผู้ออกทุนให้ เอกชนจัดการผูกขาดซื้อขายเอง ต้นทุนการค้าจะสูงกว่ารัฐเป็นผู้จัดการ เพื่อจะได้ขายฝรั่งได้ในราคาสูงมากกว่าต้นทุนการค้า

                         อนึ่ง การตั้งระบบเจ้าภาษีนายอากรนี้ฝ่ายไทยยืนยันว่าไม่เป็นการละเมิดสัญญาทางการค้าแต่อย่างใดเพราะไม่มีการระบุไว้ในสัญญา และที่สำคัญคือเรื่องการเก็บภาษีขึ้นในนี้ มิได้เรียกเก็บจากพ่อค้าฝรั่ง แต่หากแต่เก็บจากราษฎรของตนซึ่งฝ่ายไทยมีสิทธิที่จะปฏิบัติต่อคนของตนเองได้ (15)

                        เราอาจกล่าวได้ว่าการทดแทนด้วยยุทธวิธีเช่นนี้เป็นการรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ของรัชกาลที่ 3 อย่างหนึ่งได้ อังกฤษ ตระหนักในผลกระทบเช่นนี้ดี จนเมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ. 2398 ระบบการผูกขาดการค้าถูกล้มเลิกไปโดยเจตนา พระคลังสินค้าถูกยกเลิกไปอย่างเด็ดขาด ส่วนระบบการผูกขาดโดยภาษีอากรนั้น ถูกระบุไว้ในสัญญาว่า สิ่งของที่เป็นสินค้าออกเรียกเก็บภาษีชั้นเดียวคือภาษีภายในหรือสินค้าขายออกได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

 

                        2) เรื่องการสร้างเรือพาณิชย์แบบฝรั่ง: เมื่อฝรั่งเรียกร้องให้ไทยยกเลิกการผูกขาดของหลวงอย่างจริงจัง และให้มีระบบเก็บภาษีที่แน่นอน ไม่ใช่ว่าเก็บภาษีปากเรือ ซึ่งเป็นค่าทอดสมอ แล้วยังเก็บภาษีสำหรับเนื้อที่ที่ใช้จอดหรือค่าท่าเรือ ตลอดจนภาษีขาออกและภาษีศุลกากร ไม่นับรวมของขวัญสำหรับข้าราชการอีกจำนวนหนึ่งแล้ว สำหรับค่าปากเรือนั้น ในการส่งสินค้าเข้าและออกต้องเสียค่าปากเรือซึ่งเรียกเก็บรวม ศอกละ 1,700 บาทต่อปี หรืออาจจะเก็บเป็นครั้ง ครั้งละ 600-700 บาท ได้ตามใจ ในปีหนึ่งเรือสินค้าที่เข้ามาค้าขายสมมุติว่า ระหว่างกรุงเทพกับอินเดียจะต้องเข้าออกเฉลี่ยปีละ 4 ครั้ง กล่าวคือ ขายสินค้าที่กรุงเทพแล้วขากลับเอาสินค้าที่กรุงเทพไปขายที่สิงคโปร์ แล้วขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพกับสิงคโปร์ รอมรสุมจึงจะเดินทางกลับไปอินเดียได้ การเสียค่าปากเรือทั้งปีจะทุ่นค่าใช้จ่ายมากกว่าการเก็บครั้งต่อครั้ง ฝรั่งต้องการให้เป็นแบบนี้ยังไม่พอ แบบเรือฝรั่งยังมีระวางบรรทุกสูงกว่าสำเภาจีน จึงสามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่าเรือสำเภาจีน แต่กลับมาเสียค่าปากเรือเท่ากัน เมื่อทรงรู้ทันอย่างนี้ จึงโปรดฯ ให้สร้างกองเรือพาณิชย์แบบฝรั่ง จำนวน 11-13 ลำ และของขุนนางอื่น ๆ อีก6 ลำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2378-2390 และในช่วงเวลาระหว่างนั้น คือปีพ.ศ. 2383 มีพระบรมราชโองการประกาศว่าน้ำตาลจะยังขายให้ผู้ใดไม่ได้จนกว่าเรือพาณิชย์ของรัฐจะบรรทุกได้เต็มระวางเสียก่อน เท่ากับเป็นการผูกขาดการค้าน้ำตาลบางส่วน ต่อมาในปี พ.ศ. 2385 ได้ผูกขาดกับสินค้าน้ำตาลอย่างเต็มที่ โดยออกประกาศว่าพ่อค้าจะซื้อและขายน้ำตาลได้ก็ผ่านทางรัฐบาลได้เท่านั้น เวลานั้นน้ำตาลได้ราคาสูงขึ้นถึง 40% (16) นับเป็นการต่อสู้และรู้ทันกันด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการค้าเป็นอย่างยิ่ง สมควรจะถวายพระเกียรติยกย่องให้เป็นซาร์เศรษฐกิจเสียยิ่งกว่าพระบิดาแห่งการค้าไทยก็ว่าได้

3) แรงงานจีนในกระบวนการผลิตและค้าน้ำตาลไทย : รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าการริเริ่มและสนับสนุนการทำอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเพื่อตอบสนองหลักการแบ่งงานกันทำในระบบเศรษฐกิจโลกนั้นเราสามารถตอบสนองได้ แต่บุคลากรและแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตตั้งแต่แรงงานในไร่และโรงงาน การค้าและการขนส่งภายใน จนถึงภายนอกประเทศและการตลาด นั้น ทรงเลือกให้ชาวจีนเป็นผู้ประกอบการ จริงอยู่แม้ว่ากระแสโลกาภิวัตน์จะทำให้เกิดการอพยพหลั่งไหลของชาวจีนเข้ามาสู่ดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วยอย่างมากมาย เกิดปัญหาการรวมตัวก่อการกำเริบในรูปแบบของอั้งยี่ หรือ ตั้วเหีย ตลอดจนความขัดแย้งกับคนไทยอันกลายเป็นปัญหาสังคมก็ตาม แต่การเลือกคนกลุ่มนี้แทนคนไทยและคนสัญชาติอื่นใด ถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง

คุณลักษณะพิเศษของชาวจีน

ก. ชาวจีนเป็นผู้มีทักษะทางการค้า นอกจากทางเมืองจีนจะเป็นคู่ค้าและเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของไทยแล้ว ยังการเปิดประตูการค้าของจีนทำให้เกิดการขยายตัวในเรื่องการค้าต่างประเทศ เช่น มีจำนวนเรือสำเภา เรือฝรั่ง และเรือของอาณานิคมฝรั่งในเอเชียที่ติดต่อค้าขายกับจีนมากขึ้น พ่อค้าชาวจีนจะมีประโยชน์ต่อไทยในการค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าสินค้าชนิดใหม่ที่เป็นที่ต้องการของฝรั่งอย่างเช่น น้ำตาลทราย

ในสมัยนั้น การค้าระหว่างไทยและอังกฤษต้องผ่านทางสิงคโปร์โดยเรือสำเภาของจีนจะนำน้ำตาล เกลือ น้ำมันมะพร้าว และข้าว ไปจากเมืองไทย แลกกับสินค้าจำพวกผ้าและเครื่องแก้วของอังกฤษและอินเดียซึ่งเป็นเมืองอาณานิคมของอังกฤษ และวิธีนี้ก็เป็นที่พอใจของพ่อค้าฝรั่ง ในระยะแรก ๆ เพราะได้สินค้าราคาถูกกว่าที่จะต้องมาซื้อขายเองกับพระคลังสินค้าที่จะต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน และมีอัตราที่ไม่แน่นอนอีกด้วย

จากการศึกษาของ Wong Lin Ken แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สิงคโปร์ กล่าวว่า อังกฤษสถาปนาสิงคโปร์เป็นสถานีการค้าในปี 2362 แต่ในปี พ.ศ. 2366 มีเรือสำเภาไทยไปค้าที่สิงคโปร์ 27 ลำ พ.ศ. 2367 เพิ่มเป็น 44 ลำ  และปี พ.ศ. 2369 สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าของไทยในแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (17) เอกสารของเบอร์นีช่วยยืนยันว่าการค้าระหว่างไทยกับเมืองสถานีการค้าของอังกฤษ อันได้แก่ สิงคโปร์ ปีนัง และมะละกา ในระยะแรกถึงปี พ.ศ. 2363 ไทยได้เปรียบดุลการค้า กล่าวคือส่งออกมูลค่า 1,128,785 รูปี (เฉพาะน้ำตาล มีมูลค่า 370,242 รูปี) และ มูลค่าการนำเข้า 699,339  รูปี (18) ยกตัวอย่างจีนเศรษฐีสำเภาค้าน้ำตาลที่มีชื่อสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น นายตัน ตอก เส็ง (Tan Tock Seng) สัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบิดาของนายตัน กิง เจ๋ง เจ้าของโรงสีกิมเจ๋ง และกงสุลสยามประจำสิงคโปร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 (19) ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการทุนนิยมในเมืองไทยได้ต่อไป

ข. ส่วนเรื่องแรงงานจีนนั้น นอกจากจะกล่าวได้ว่าแรงงานจีนมีส่วนสำคัญในภาคบริการสำหรับการขยายเมืองของกรุงเทพ และหัวเมืองรอบนอก โดยเฉพาะนอกเขตนารอบราชธานี ที่มีการเพาะปลูกอ้อยกันอย่างมากมาย กล่าวคือ เป็นแรงงานสร้างซ่อมวัดวาอาราม อาคารสถานที่ ตลอดจน ขุด คู คลอง สำหรับการขนส่ง และสัญจรไปมาเมืองไทยในเวลานั้น ยังไม่มีการทำเกษตรกรรมแบบที่เรียกว่า Plantation หรือเกษตรกรรมขนาดอุตสาหกรรมการเกษตร การปลูกข้าวก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งยังไม่เปิดข้าวเสรีนั้นยังไม่มีการขยายพื้นที่ทำนา จะมีก็แต่การปลูกอ้อยทำน้ำตาล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสินค้าแปรรูปชนิดแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำไร่อ้อยในเนื้อที่ 200 กว่าไร่ขึ้นไป (20) มีการจ้างแรงงานจีนโรงละประมาณ 100-300 คน ตามขนาดไร่และโรงงานซึ่งอาจขยายให้ใหญ่โตมากเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับทุนและแรงงานที่จะหาได้ จ้างชาวจีนเป็นหลงจู๊โรงหีบอ้อย ปรากฏอัตราการจ้างงานในเวลานั้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเมืองไทยยังไม่มีระบบแรงงานอิสระ เรามีแต่แรงงานไทยซึ่งต่างก็มีสังกัด อยู่ภายใต้ระบบการควบคุมคนแบบมูลนาย-ไพร่

อัตราค่าจ้างสำหรับงานในไร่กำหนดไว้ดังนี้

อัตราค่าจ้างฟันดิน ไร่ละ 3 บาท 2 สลึง

ค่าจ้างฟื้นดินกลับ ไร่ละ 2 บาท

ค่าจ้างขุดอ้อย ไร่ละ 3 บาท

ค่าจ้างขุดหลุม ไร่ละ 1 บาท 2 สลึง 1 เฟื้อง

ค่าจ้างปลูกอ้อย ไร่ละ 2 สลึง

ค่าจ้างพรวนดิน บำรุงรักษาอ้อย ไร่ละ 1 ตำลึง 2 สลึง

ค่าจ้างขุดคลอง เส้นละ 3 ตำลึง 1 บาท 3 สลึง ถึง 3 ตำลึง 3 บาท

ค่าแรงทำเครื่องมือไร่นา เช่น ทำพลั่ว ทำเหลียม ทำจอบจีน

ตั้งแต่ 1 สลึง ถึง 3 สลึง แล้วแต่ชนิด (21)

 

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าหากค่าแรงเหล่านี้ต่อวันซึ่งอยู่ในระหว่างคนละ 1 บาท ถึง 1 บาท สองสลึงตามบัญชีรายงานเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 3 (22) นับได้ว่าเป็นอัตราที่สูงมากสำหรับการจ้างแรงงานในเวลานั้น หากจะเปรียบเทียบกับค่าจ้างช่างไม้คนไทยหากจะได้ค่าแรงก็ได้เพียงวันละ 2 สลึงเท่านั้น (23) และเทียบกับการที่ไพร่ต้องเสียค่าราชการแทนแรงงานเกณฑ์เข้าเดือนออกสามเดือน เดือนละ 6 บาท รวม 3 เดือนเป็น 18 บาทต่อปีก็ตาม (24)

ปรากฏด้วยว่าแรงงานในไร่อ้อยและโรงหีบอ้อยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีนแต้จิ๋ว ซึ่งอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ แถบเมืองเฉาโจว ซึ่งเป็นเมืองปลูกอ้อยและทำน้ำตาลทรายนั่นเอง (25) จึงถือว่ามีทักษะและความชำนาญอยู่เดิม

 แม้จะมีความแตกต่างกันระหว่างคนไทยและคนจีนในเรื่องระบบค่าจ้างและแรงงาน ผู้จะทำกิจการค้าน้ำตาลในสมัยนั้นต้องตระหนักว่า กิจการนี้ที่เป็นสากลในเวลานั้นต้องอาศัยระบบเงินตรา แต่ทว่าเศรษฐกิจหลักของไทยยังคงอยู่ในลักษณะของเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเอง คนไทยทั่วไปยังไม่มีทักษะในเรื่องระบบเงินตรา จะเห็นได้ว่าแม้มาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำประเทศ ยังต้องออกประกาศหลายฉบับเพื่อสอนราษฎรให้คุ้นเคยกับระบบเงินตรา ตั้งแต่ให้รู้จักลักษณะรูปพรรณสัณฐาน การจับต้อง  และประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้

สังคมไทยในเวลานั้น ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครองวางอยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญคือระบบการควบคุมคนแบบมูลนาย-ไพร่     ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนไพร่หลวงในความควบคุมของพระมหากษัตริย์หรือรัฐ     และไพร่สมในความควบคุมของเจ้านายและขุนนาง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อเสถียรภาพของรัฐหรือพระมหากษัตริย์ในระบอบมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากสมัยใดไพร่หลวงมีจำนวนน้อยกว่าไพร่สม ย่อมหมายถึงว่าอำนาจรัฐในสมัยนั้นอ่อนแอไม่มั่นคง ประวัติศาสตร์ไทยสมัยที่ผ่านมาให้บทเรียนแก่ผู้นำต่อ ๆ มาได้ เป็นอย่างดี

ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานว่าระบบมูลนาย-ไพร่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จะเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ และมีแนวโน้มว่าไม่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจแบบส่งออกซึ่งต้องการแรงงานเสรีมากเพียงไรก็ตาม แต่จะประกันได้หรือว่าการเลิกระบบการควบคุมคนแบบมูลนาย-ไพร่นี้ หรือเลิกระบบอุปถัมภ์อย่างเป็นทางการ (ไพร่หลวง) นั้น จะทำให้ระบบอุปถัมภ์อย่างไม่เป็นทางการ (ไพร่สม และทาส) ซึ่งเป็นความจริง  ในความสัมพันธ์ทางสังคม ล้มเลิกลงไปด้วย ในขณะที่แนวความคิดในการจัดระเบียบสังคมใหม่ และแนวความคิดในเรื่องรัฐชาติ  ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งนี้ย่อมมีผลต่อการเพิ่มจำนวนไพร่สมของเจ้านายและขุนนาง อันมีผลกระทบต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และรัฐเป็นอย่างยิ่ง การเลิกระบบการควคุมคนแบบมูลนาย-ไพร่ เพื่อให้เกิดแรงงานเสรีและมีอิสระที่จะเคลื่อนย้ายที่อยู่และที่ทำกินในขณะนั้น จึงไม่ใช่ทางเลือกอย่างแน่นอน ปัจจัยที่เข้ามาทดแทนได้คือ การทดแทนแรงงาน ทดแทนอาชีพ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องของคนนอกระบบที่จะเข้ามาแทนที่

ระบบกฎเกณฑ์ที่จะเป็นกลไกหรือมาตรการเสริมคอยควบคุมดูแลสภาพการทดแทนเช่นนี้ ก็คือการมอบหมายกรมท่าซ้ายให้ควบคุมดูแล ซึ่งเป็นสภาพปรกติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังกำหนดให้เรื่องผูกปี้ เป็นการเสียภาษีโดยตรงของคนนอกระบบ การผูกปี้นี้เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ในครั้งนั้นรัฐกำหนดให้คนจีนต้องมารายงานตัว 3 ปีต่อครั้ง โดยเสียค่าผูกปี้ครั้งละ 2 บาท และค่าธรรมเนียมอีก 1 สลึง ผู้ใดไม่มีเงินจ่ายค่าผูกปี้ ต้องมาทำงานโยธาให้รัฐคนละ 1 เดือน ในรัชกาลที่ 3 ได้เพิ่มค่าผูกปี้เป็น 4 บาท

กลไกหรือมาตรการเสริมที่สร้างขึ้นมาคือการตั้งกรมการจีน เพื่อการควบคุมดูแลกันเองของคนจีนตามหัวเมืองห่างไกล ในกรมการจีนจะประกอบด้วย นายอำเภอจีน และจางวางจีน ซึ่งมีอำนาจกว้างขวางตามพื้นที่ปกครองที่มากกว่ากันตามลำดับ

นอกจากนี้แล้ว เจ้าภาษีนายอากร ยังเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ บำบัดทุกข์บำรุงสุขเกี่ยวกับเรื่องการเก็บภาษี รวมทั้งอำนาจในการตัดสินความที่เกี่ยวข้องกับการภาษีอากรที่ตนรับผิดชอบประมูลได้ในเขตพื้นที่ของตนอีกด้วย

ความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรมย่อมเกิดขึ้นได้ในเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างรู้สึกถึงความมีและไม่มีแตกต่างกัน การก่อกำเริบของอั้งยี่ฉะเชิงเทราเมื่อปี  พ.ศ. 2393 จนมีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่าศพจีนถูกฆ่าลอยเป็นแพตามลำน้ำนับพันราย มีหลายรายถูกรื้อค้นไถ้ใส่เงินและกระทำทารุณจนถึงขนาดแหวกไส้-พุงค้นหาเศษเงินเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นความเหลื่อมล้ำกันระหว่างเศรษฐกิจ 2 ลักษณะ ระหว่างเศรษฐกิจที่มีสาขาการส่งออกที่พัฒนาไปแล้วอยู่คู่กับเศรษฐกิจภายในซึ่งล้าหลังมาก (26)     การอยู่ร่วมกันอย่างมีสมานฉันท์อาจเกิดขึ้นได้ด้วยมาตรการเสริมทางวัฒนธรรม ศิลปะแนวพระราชนิยมในรัชกาลอันหมายถึงศิลปวัฒนธรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากจีน อาจเป็นทางเลือก คนจีนและศิลปวัฒนธรรมจีนถูกนำมาเพิ่มมูลค่า พัฒนาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ไม่แพ้กันกับการอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในเชิงสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เช่นตำรายา ท่าดัดตน แพทย์แผนโบราณ ทั้งนี้ด้วยพระอัจฉริยภาพที่รู้ทันโลกาภิวัตน์นั่นเอง (*)
 

บรรณานุกรม

เอกสารหอสมุดแห่งชาติ  ห้องวชิรญาณ (หสช.)

            ร.2 จศ. 1178/5 นายเรือคุมสำเภาจีนไปจำหน่าย

            ร.3 จศ. 1027/56  บัญชีเงินภาษีอากร

            ร.3 จศ. 1200/5 บัญชีเงินซึ่งใช้ในโรงทำน้ำตาลทรายหลวง

            ร.3 จศ. 1201/9 บัญชีพระยาวิเศษฤาไชย

 

เอกสารจากกองจดหมายเหตุแห่งชาติ (กจช.)

            ร.4 กห. เล่ม 14 จศ.1218

 

กิตติ ตันไทย. “คลองกับระบบเศรษฐกิจไทย (พ.ศ.2367-2453)”. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520.

 

ครอว์ฟอร์ด, จอห์น. เอกสารของครอว์ฟอร์ด แปลโดย ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ. พระนคร : กรมศิลปากร, 2515.

 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี  ประศาสน์เศรษฐ. “ระบบเศรษฐกิจไทย ค.ศ. 1851-1910”. กรุงเทพฯ : สารศึกษาการพิมพ์, 2523.

 

ญาดา ประภาพันธ์. ระบบเจ้าภาษีนายอากรสมัยกรุงเทพฯ ยุคต้น.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2524.

 

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. เล่ม 1-2 พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2505

 

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1-2. พระนคร : คลังวิทยา, 2505-2506.

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์. วัฒนธรรมกฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ . เอกสารวิชาการหมายเลข 20. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา (ม.ธ.) 2525

 

เนิคเส, แรคนา. การค้าระหว่างประเทศ. แปลโดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช, 2518

 

เบอร์นี, เฮนรี.  เอกสารของเบอร์นี เล่ม 1. แปลโดย สาวิตรี สุวรรณสถิตย์. พระนคร : ศิลปากร. 2514

 

----------------.-----------------------. เล่ม 2 ตอน 1 แปลโดย สาวิตรี สุวรรณสถิต. พระนคร : กรมศิลปากร, 2518

 

----------------.-----------------------. เล่ม 2 ตอน 2 แปลโดย ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ. พระนคร : กรมศิลปากร, 2518

 

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 62 เรื่องทูตฝรั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายเทียม ลดานนท์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 1 กรกฎาคม 2506.

 

ไพฑูรย์ สายสว่าง. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เอกสารประกอบการสัมมนาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522

 

มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากรฯ. สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เล่ม 1 กรุงเทพฯ : บ.ลูนาร์อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด, 2545

 

วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์, ม.ล. การเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 19. เอกสารวิชาการหมายเลข 45 กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา, 2526

 

เวลลา, วอเตอร์ เอฟ. แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ แปลโดย นิจ ทองโสภิต. พระนคร : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย . 2514

 

สมคิด ศรีสิงห์. “การบริหารภาษีอากรในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการ. ศึกษาประสานมิตร, 2515

 

อุดมสมบัติ, หลวง จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ พระนคร : กรมศิลปากร, 2515

 

a day weekly ป.1 ฉ.6 (7-13 ม.ค.2548)

 

Hong, Lysa. The Evolution of the Thai Economy in the Early Bangkok Reriod and Its Historiography. Ph.d. Thesis

 

Ingram, James C. Economic Change in Thailand 1850-1970. Kuala Lumper:  Oxford Univ. Press, 1971.

 

Kenwood, A.G. and Loug heed, A.L. The Growth of The International Economy 1820-1960’  London: George Allen & Unwin, 1971

 

Ken, Wong Lin. “The Trade of Singapore,  1819-69” Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society.  33 (December 1960) : 1-315

 

Moore, J.H. Notices of the Indian Archipalago and Adjacent Countries. Singapore, 1837

 

Skinner, G William. Chinese Society in Thailand..  Ithaca, N.Y. :Cornell Unvr. Press, 1957.

 

The Hong Kong Museum of History.  100 Years Ago. H.K : Friendship Printing Co. Ltd: 1st Primting 1970,

9th Printing 1986.

 


(1) ม.ล.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์. การเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 19,  เอกสารวิชาการหมายเลข 44 สถาบันไทยคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  2526.

(2) เอกสารของครอว์ฟอร์ด.  2515: 175 – 176  (เป็นเอกสารจดหมายทางการเมืองจากเบงกอล ลงวันที่ 23 พ.ย. 1821 และ 27 ธ.ค. 1822)

(3) Rasechenberger, 1838: 284

(4) เอกสารของครอว์ฟอร์ด, 2515: 102

(5) หอสมุดแห่งชาติ, รัชกาลที่ 2 จ.ศ.1178/5  นายเรือคุมสำเภาจีนไปจำหน่ายเมืองจีนมาบอกข่าวและราคาสินค้า

(6) The Hong Kong Museum of History Collection, 100 Years Ago. 9th Printing 1986 (Foreword by John Warner, Curator)

(7) เอกสารของเบอร์นี เล่ม 1. 2525 : 223

(8) เอกสารของเบอร์นี่ เล่ม 1. 2525: 212-218

(9) เอกสารของเบอร์นี่. 2525: 229

(10) เอกสารของเบอร์นี่. 2525:229

(11) เอกสารของเบอร์นี  เล่ม 3. 2525 : 400

(12) หอสมุดแห่งชาติ. ร.3 จศ.1027/56 บัญชีเงินภาษีอากร 

(13) กจช. ร.4 กห. เล่ม 15 หน้า 56-61

(14) ลัทธิธรรมเนียม (2) หน้า 166-167

(15) กรมศิลปากร. เรื่องทูตฝรั่ง หน้า 67 และ Moore หน้า 207

(16) Frankfurter, O. “The Mission of Sir James Brooke to Siam”, JSS(8)

(17) Wong Lin Ken.  The Trade of Singapore 1819-1869, 1960 : 138

(18) Burney Papers (3)  Part1 : 187-189.

(19) Lysa Hong. The Evolution of the Thai Econymy in the Early Bangkok Period… และไพฑูรย์ สายสว่าง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของลุ่มแม่น้ำเจ้พระยา : 40

(20) หสช.ร.3 จศ.1200/5 บัญชีเงินซึ่งใช้ในโรงทำน้ำตาลทรายหลวง (ที่ดิน 223 ไร่)

(21) หสช. ร.3 จศ.1201/9  บัญชีพระยาวิเศษฤาไชย

(22) หสช. ร.3 จศ.1200/5 บัญชีเงินซึ่งใช้ในโรงทำน้ำตาลทรายหลวง

(23) เอกสารของครอฟอร์ด,  2515 : 128

(24) ดูใน ม.ล.วัลย์วิภา, 2526 : 20

(25) William Skinner, 1957:84

(26) โปรดดูรายละเอียดสภาพของ dual economy ได้ใน Ragnar Nurkse, Patterns of Trade and Development,  1959 (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แปลเป็นภาษาไทยชื่อ การค้าระหว่างประเทศ ไทยวัฒนาพาณิช กรุงเทพฯ 2518.)

 

* ความขัดแย้งกับอังกฤษ ก็มีกรณีบาดหมางกับพ่อค้า เช่น นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ที่ขู่ว่าจะนำเรือมาปิดปากอ่าว หากไม่ซื้อเรือกำปั่นตามราคาที่ไทยรู้สึกว่าถูกบังคับให้ซื้อ หรือกรณีเจตนารมณ์ของอังกฤษที่มุ่งให้ไทยทำสนธิสัญญาทางการค้า และในที่สุดสนธิสัญญาเบอร์นี พ.ศ.2369 ก็เกิดขึ้นเป็นสัญญาแรก พิจารณาการที่ไทยต้องทำสนธิสัญญาทางการค้าในแง่หนึ่งก็เปรียบเสมือนความปราชัย แต่ทว่าวิกฤติที่พลิกเป็นโอกาสครั้งนี้ คือ ข้อสัญญามีการยอมรับอำนาจของไทยเหนือหัวเมืองประเทศราชทางใต้ อันได้แก่ ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ตลอดจนอำนาจของหัวเมืองนอก คือ นครศรีธรรมราชในการกำกับดูแลหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส หรือการสร้างมูลค่าทดแทนในสถานการณ์ต่าง ๆ นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งในรัชสมัยนี้อันจะเป็นการทำให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้เรียนรู้ต่อมา