ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3

​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3

_________________

สายไหม  จบกลศึก , สุวรรณี ณ ระนอง  , รุจิรัตน์  ลิขิตวงษ์  เรียบเรียง

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  สภาวะบ้านเมืองโดยทั่วไปอาจจะเรียกได้ว่าค่อนข้างอยู่ตัว  แม้ว่าจะยังมีศึกสงครามกับประเทศใกล้เคียง  เช่น พม่า  เขมร  ลาว ญวน  และหัวเมืองภาคใต้อยู่บ้าง  แต่ก็ไม่หนักหนาหรือเป็นที่น่าวิตกเช่นในตอนต้นราชวงศ์  แต่การบูรณะและสร้างบ้านให้เป็นเมืองยังเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง  การเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองประเทศในช่วงเวลานั้นจึงเป็นการท้าทายและต้องใช้ความสามารถอย่างยิ่ง  เพราะไม่เพียงแต่ปัจจัยภายในดังกล่าว  ยังมีแรงผลักดันจากภายนอก  กล่าวคือ  เป็นระยะเวลาที่หลายประเทศในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือกำลังเจริญเติบโตทางด้านวัตถุและความก้าวหน้าทางวิชาการ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคืออยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม  จึงทำให้เกิดความต้องการแหล่งวัตถุดิบของพ่อค้าชาวตะวันตกเพื่อนำไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก  ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดของไทยในเวลานั้น  โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีประสบการณ์และความชำนาญในด้านการค้าขายและการติดต่อกับต่างประเทศมาก่อนแล้ว  จึงเป็นการสร้างฐานที่มั่นคงให้พระองค์ใช้เป็นแนวทางในการบริหารบ้านเมืองในระยะต่อมา

โอกาสและประสบการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีในเรื่องของการค้าขายนั้นที่เห็นชัดเจน คือ การได้ทรงกำกับราชการกรมท่าในสมัยรัชกาลที่๒  กรมท่านี้เป็นองค์กรสำคัญในระบบราชการ  และมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในเวลานั้น  ขอบข่ายและอำนาจหน้าที่ของกรมท่า มีดังนี้ คือ

๑.  ดูแลด้านการคลัง  คือ  ดูแลการทำงานของเจ้ากรมพระคลังทั้ง ๑๒  แห่ง  คือ  กรมพระคลังมหาสมบัติ, กรมพระคลังในขวา, กรมพระคลังในซ้าย, กรมพระคลังวิเสศ, กรมพระคลังสินค้า, กรมพระคลังวังไชย,  กรมพระคลังป่าจาก, กรมพระคลังราชการ, กรมพระคลังศุภรัต, กรมพระคลังพิมานอากาศ, กรมพระคลังสวน  และกรมพระคลังแสงสรรพยุทธ            

ทั้ง  ๑๒ ท้องพระคลังนั้นเป็นหัวใจของประเทศทางด้านเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมพระคลังสินค้า  ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อ – ขายสินค้าของหลวง  และเป็นที่เก็บทรัพย์สิ่งของที่หัวเมืองต่าง ๆ ส่งเข้ามาถวาย  และพระคลังสินค้าจะจัดสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้ใส่ลงสำเภาไปขายยังที่อื่น ๆ ต่อไป

๒.  ดูแลหัวเมือง  ในสมัยรัตนโกสินทร์  กรมท่ามีอำนาจในการปกครองดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี นครชัยศรี สมุทรสาคร  สมุทรสงคราม พนัสนิคม ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี และตราด และในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสนาบดีกรมท่าได้ว่าที่สมุหพระกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓ กรมท่าจึงมีอำนาจเหนือหัวเมืองชายทะเลภาคใต้ด้วย

๓.  ดูแลการต่างประเทศ  กรมท่ามีหน้าที่ดูแลทั้งในเรื่องการจัดสินค้าลงเรือสำเภาไปขายต่างประเทศ  การเตรียมกระบวนเรือ  การเตรียมพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ  การจัดเจ้าหน้าที่ประจำเรือ  และการจัดซื้อ – ขายสินค้าในตลาดต่างประเทศ

ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ได้มีการจัดตั้งเจ้านายทรงกำกับราชการกรมสำคัญ ๆ ในการบริหารราชการส่วนกลางขึ้น  โดยมีฐานะเป็นผู้กำกับกรมคู่ไปกับเสนาบดีเดิม  สำหรับกรมท่านั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  พระราชโอรสองค์โตกำกับราชการกรมท่า  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ เพราะเคยทรงกำกับกรมพระคลังมหาสมบัติอยู่แล้ว โดยมีพระยาสุริย วงศ์มนตรี (ดิศ  บุนนาค)  ช่วยราชการ

การที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงได้รับความไว้วางพระทัยจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยให้ทรงดูแลกำกับกรมท่าซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญยิ่ง  เพราะควบคุมดูแลรายได้รายจ่ายของแผ่นดิน  คงเป็นเพราะทรงพระปรีชาสามารถและทรงขยันขันแข็งเป็นที่พอพระราชหฤทัยสมเด็จพระราชบิดา  จึงทรงได้รับตำแหน่งสำคัญ ๆ เรื่อยมา  จอห์น  ครอว์ฟอร์ด  ซึ่งเดินทางมาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่  ๒ ได้กล่าวถึงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ว่า

 

“เรื่องราชการไม่ว่าในกรมกองใด  อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ทั้งสิ้น  พระองค์ทรงแสดพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ในพระราชภารกิจที่พระองค์ทรงได้รับมอบหมายเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุขของบ้านเมืองหรือการสงคราม  การติดต่อกับต่างประเทศหรือกฎระเบียบของบ้านเมือง  การกำหนดนโยบายหรือความยุติธรรม  จะเป็นไปตามพระประสงค์ของเจ้านายพระองค์นี้ทั้งสิ้น...”

จากบันทึกข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการว่าราชการพระองค์หนึ่ง  และยังทรงเป็นที่ยำเกรงของเหล่าขุนนางทั่วไปด้วย(๑)

การค้าของไทย  มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ ประเทศจีน  เกือบทั้งหมดของสินค้าไทยถูกส่งไปขายยังเมืองท่าต่างๆ ของจีน เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ นับเป็นเวลากว่า ๕๐๐ ปี

            ไทยกับจีนทำการค้ากันในระบบ "บรรณาการ" หรือ"จิ้มก้อง"  มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตรงกับจีนในสมัยพระเจ้าเฉิงจงแห่งราชวงศ์หยวน  เป็นรูปแบบที่จีนถือว่าต่างชาติทุกชาติเป็นเมืองขึ้น แต่ฝ่ายไทยถือว่าไทยได้ประโยชน์อย่างทางการค้ามากกว่า โดยทุก ๓ ปี ไทยจะส่งสิ่งของซึ่งส่วนใหญ่เป็นของป่าที่มีค่าไปบรรณาการจักรพรรดิจีน ซึ่งจีนจะตอบแทนกลับมามากกว่าที่ได้รับ ไทยได้ประโยชน์มากจึงส่งไปทุกปี บางปีก็ไปก่อนครบ ๓ ปี และจัดไปเป็นกระบวนใหญ่ มีทั้งภาคเอกชนร่วมไปกับเรือหลวงด้วย

นอกจากนั้น ยังมีชาวจีนอพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์ทางด้านการค้า การบัญชี การเดินเรือ ตลอดจนความรู้ทางเทคโนโลยีการผลิตอื่นๆ โดยไม่มีอุปนิสัยแทรกแซงทางการเมือง นับถือพุทธศาสนา ประกอบกับการค้าที่ต้องใช้ภาษาจีน คนจีนอพยพเหล่านั้น จึงมีคุณสมบัติเหมาะสมยิ่งที่จะเป็นตัวแทนการค้าในระบบจิ้มก้อง

 

สมัยรัชกาลที่ ๑  พุทธศักราช ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาทางฝั่งตะวันออก เพื่อให้มีความสะดวกในการขยายตัวในอนาคต

รายจ่ายในการทำนุบำรุงประเทศมีมากมายมหาศาล  ทั้งการสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดวาอารามสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ราชการ แหล่งการศึกษา และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชน รวมทั้งรายจ่ายในราชการสงคราม  ซึ่งขณะนั้น  พม่ายังยกทัพหมายมาตีไทยให้ราบคาบ  ด้วยเห็นว่าไทยบอบช้ำแสนสาหัสแล้ว  เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้พระราชทรัพย์ของแผ่นดินทั้งสิ้น

รายได้ของประเทศที่ได้จากการเก็บส่วยสาอากรและจากการค้าสำเภากับจีน            ไม่เพียงพอกับรายจ่าย  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  มีพระราชปรารภว่า

"…เงินเก็บมาได้แต่ส่วยอากรก็พอใช้ทำนุบำรุงแผ่นดินเหลือจึงเอามาจ่ายเบี้ยหวัด  ก็ไม่ใคร่พอ…" 

เมื่อต้นรัชกาลที่ ๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  (พ.ศ. ๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) รายได้ของแผ่นดินยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายเช่นกัน  พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า

"…ภาษีอากรก็ยังไม่มาก…เงินได้มาใช้สอยราชการแผ่นดินบ้างก็ไม่พอจ่ายเบี้ยหวัด  ลางปีให้เต็ม  ลางปีก็เติมผ้าลายให้บ้าง…"

จากพระราชปรารภดังกล่าวแสดงว่า  รายได้จาก "ส่วย"  ที่ส่งไปค้าสำเภา  แม้จะมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอแก่รายจ่าย

พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าทับ  หรือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการค้าต่างประเทศ  หรือกรมท่า จึงทรงขวนขวายหาทางเพิ่มพูนรายได้  ซึ่งพระองค์ก็ทรงกระทำได้สำเร็จอย่างงดงาม  สอดรับกับความเป็นไปของโลก  ทั้งโลกตะวันตกที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และโลกตะวันออก  คือ จีนที่เกิดวิกฤตการณ์ภายในประเทศขณะนั้น

 

ส่วย และการค้าสำเภา

รูปแบบเศรษฐกิจของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงต้นรัตนโกสินทร์  จะเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง  โดยสภาวะสังคมยุคนั้นไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านทำการค้า เพราะถือว่าชาวบ้านหรือไพร่ ต้องสังกัดมูลนาย และต้องถูกเกณฑ์แรงงานอยู่เสมอ ทั้งเกณฑ์เป็นทหารและเกณฑ์แรงงาน จึงไม่มีอิสระพอที่จะประกอบการทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ นอกจากการทำไร่ไถนาและหาของป่าแล้ว หากมีความต้องการสิ่งของใดก็จะนำข้าวของของตนไปแลก ยังไม่มีการค้าอย่างเป็นระบบ ความอุดมสมบูรณ์หรือการเศรษฐกิจ  จึงอยู่ที่ความอยู่ดีมีสุข  พออยู่พอกินตามธรรมชาติ ซึ่งแผ่นดินเอื้ออำนวยให้ในลักษณะ "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว"  มิใช่ความมั่งคั่งด้วยเงินตรา  แต่ความมั่งคั่งนั้น ได้ถ่ายเทไปสู่รัฐโดยระบบ  "ส่วยสาอากร" โดยไพร่ส่ง "ของป่า" ซึ่งเป็นที่ต้องการของต่างประเทศไปยังรัฐ เพื่อส่งเป็นสินค้าลงสำเภาต่อไป

"ส่วย"  หรือ  "ไพร่ส่วย"

"ส่วย" หรือ  "ไพร่ส่วย"  คือราษฎรทั่วไป  ซึ่งจะต้องถูกเก็บ  "ภาษีอากร"  เป็น   แรงงาน  และผลิตผล ซึ่งเรียกว่า  ส่วย จึงมักเรียกรวมๆ ว่า ไพร่ส่วย

ไพร่จะถูก "เกณฑ์แรงงาน"  หรือที่เรียกว่า  "เข้าเวร"   เจ้านายหรือขุนนางสามารถเรียกใช้แรงงานไพร่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  เช่น  ให้ขุดคูคลอง  ทำไร่ ไถนา  สร้างวัด  สร้างวัง ฯลฯ  หรือเกณฑ์ไปเป็น  "ไพร่พล"  ในกองทัพยามมีศึกสงคราม

ไพร่จะถูกเกณฑ์แรงงานเป็นระยะเวลาที่แตกต่างกัน  เช่น

สมัยกรุงธนบุรี  เกณฑ์    ๖  เดือนต่อปี  หรือ เข้าเดือนออกเดือน

สมัยรัชกาลที่  ๑  เกณฑ์  ๔  เดือนต่อปี  หรือ เข้าเดือนออกสองเดือน

สมัยรัชกาลที่  ๒  เกณฑ์  ๓  เดือนต่อปี  หรือ เข้าเดือนออกสามเดือน

การเกณฑ์แรงงานที่ลดลง สะท้อนถึงภาวะที่มีศึกสงครามน้อยลงและการพาณิชย์ เฟื่องฟูขึ้น

 

โดยทั่วไปการเกณฑ์แรงงานมักทำในเขตเมือง  ซึ่งมีงานที่ต้องใช้แรงงานอยู่เสมอ ส่วนไพร่ที่อยู่ในชนบทห่างออกไป  ต้องเสียภาษีในรูปของ "ส่วย"  ซึ่งก็คือผลิตผลที่หาได้ในท้องถิ่นนั้น ๆ  หน่วยราชการหลายหน่วย  เช่น  กลาโหม  มหาดไทย  คลัง  ต่างก็มีส่วนในการเก็บส่วยทั้งสิ้น  การเก็บส่วยเริ่มลดจำนวนลงในรัชกาลที่  ๓  เพราะเริ่มเก็บเป็น  "เงิน" แทน

 

ระบบพระคลังสินค้า

แต่เดิมมา พระมหากษัตริย์และเจ้านายคือผู้หารายได้โดยทำการค้าระหว่างประเทศ  ซึ่งผ่านระบบผูกขาดโดย  "พระคลัง"  หรือที่เรียกกันว่า  "ระบบพระคลังสินค้า"

 

สันนิษฐานว่า "ระบบพระคลังสินค้า" คือแบบแผนที่ไทยรับมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวอินเดียปฏิบัติมาช้านาน  และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในคาบสมุทรอินโดจีน  สำหรับในสมัยอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด  แต่เข้าใจว่าคงจะเริ่มขึ้นภายหลังที่มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาค้าขายกับไทย  เพราะก่อนหน้านี้มีเพียงพ่อค้าตะวันออกซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก  และเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ของไทย  ไทยยังต้องอาศัยพ่อค้าเหล่านี้เป็นผู้จัดการดูแลการค้าสำเภาให้ ดังนั้นจึงอนุญาตให้พ่อค้าเหล่านี้ค้าขายส่วนตัว เพื่อชักจูงให้พ่อค้าเข้ามาค้าขายในประเทศไทยมากขึ้น  การค้าผูกขาดในชั้นต้นจึงเข้าใจว่ายังไม่มี

 

อย่างไรก็ตาม การควบคุมการค้าขายของหลวงได้มีมาช้านานแล้ว โดย "กรมท่า"  เป็นผู้ควบคุม เนื่องจากชาวต่างประเทศที่เข้ามาค้าขายจะต้องติดต่อผ่านกรมท่า หากแต่ว่าการปฏิบัติงานในระยะแรก ๆ คงจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดมากนัก  เพราะพ่อค้ามีจำนวนน้อยและเป็นผู้ที่คุ้นเคยอยู่แล้ว 

 

เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกิจการค้าของไทย

กรมพระคลัง หรือพระคลังสินค้า เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก ถือว่าเป็นพ่อค้าหลวง มีหน้าที่ควบคุมดูแลการค้าผูกขาดของราชสำนัก การส่งออกและนำเข้า  รวมทั้งการทูต  การรับรองชาวต่างประเทศ  การภาษีอากรและคลังสินค้า  ซึ่งจะมีกรมท่าซ้าย  และกรมท่าขวา ช่วยรับหน้าที่ดำเนินงาน  คือ

กรมท่าซ้าย  มี "โชฎึกราชเศรษฐี"  ซึ่งเป็นคนจีน  คอยดูแลพ่อค้าชาวจีนและพ่อค้าที่มาจากภูมิภาคเดียวกับชาวจีน  เช่น  ญี่ปุ่น, เวียดนาม  มีผู้ใต้บังคับบัญชาคือ  เทพภักดี  พนักงานของกรมท่าซ้ายจะรวมถึงลูกเรือชาวจีนที่ทำงานอยู่ในเรือสำเภาด้วย  เช่น  นายสำเภา  (จุ่นจู๊)  ผู้นำร่อง  (ต้นหน)  พนักงานบัญชี  (ล้าต้า)  นายท้าย  (ไต้ก๋ง) ทอดสมอและทอดดิ่ง  (เท่าเต้ง  ฮู้เตียว)  คนทำความสะอาด  (จับกะเถา)  ฯลฯ

กรมท่าขวา  มี "จุฬาราชมนตรี"  เป็นหัวหน้า ควบคุมดูแลการค้าสำเภาที่มาจากทางทิศตะวันตก  คือคาบสมุทรมลายู  หมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย  เอเซียใต้  ศรีลังกา  มัลดีฟ  รัฐอาหรับ  และเปอร์เซีย  ผู้กำกับดูแลกรมนี้มักจะเป็นชาวอินเดีย

มีผู้ใต้บังคับบัญชา  คือ  "ราชมนตรี"  ดูแลพ่อค้าที่เป็นแขก (มุสลิม)  และพ่อค้าจากอินเดียใต้

ต่อมาเมื่อฝรั่งเข้ามาติดต่อ  จึงได้ตั้ง  "กรมท่ากลาง" ขึ้น  แต่ก็ไม่เป็นการตายตัว  ขึ้นอยู่กับลักษณะของการค้าเป็นเกณฑ์  เช่น  ฮอลันดา  จะติดต่อกับกรมท่าซ้าย  เพราะลักษณะการค้าคล้ายคลึงกับทางจีนหรือทางตะวันออกมากกว่า

การผูกขาดของพระคลังสินค้า  เข้าใจว่า  เกิดจากการที่พ่อค้าชาวตะวันตก  เช่น โปรตุเกส เดินทางเข้ามาค้าขายในเมืองไทยมากขึ้น กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ของกรมท่าจึงเคร่งครัดมากขึ้น และนำไปสู่ระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า อันเป็นผลที่เกิดขึ้นตามวิวัฒนาการทางการค้าที่ค่อย ๆ เจริญขึ้นตามลำดับ

 

การที่รัฐบาลเข้าควบคุมการค้าของพ่อค้าตะวันตก  อาจจะมีสาเหตุดังนี้ คือ

 

๑. ประชาชนไม่นิยมค้าขายกับพ่อค้าตะวันตกในระยะเริ่มแรก  เพราะใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ต้องอาศัยล่ามช่วยแปลและเกิดปัญหาเกี่ยวกับการทวงหนี้สิน รัฐบาลจึงเข้ามาเป็นสื่อกลางโดยให้พระคลังซื้อสินค้าจากพ่อค้าทั้งหมดแล้วนำไปจำหน่ายเป็นรายย่อย ในขณะเดียวกัน  พระคลังก็รวบรวมซื้อสินค้าพื้นเมืองแล้วนำมาขายให้กับพ่อค้า

 

๒.  รายได้ของรัฐบาลที่เก็บจากประชาชน  ส่วนใหญ่จะเป็นส่วยจากผลิตผลต่าง ๆ เช่น  ดีบุก  พริกไทย  ครั่ง  ขี้ผึ้ง  ไม้หอม  และอื่นๆ โดยเก็บเป็นของหลวงสะสมอยู่ในพระคลังสินค้า เมื่อมีจำนวนมากก็จัดแต่งสำเภาไปขายยังต่างประเทศ  แล้วนำสินค้าจากต่างประเทศมาขายให้แก่พ่อค้าที่แต่งสำเภาเข้ามาค้าขายกับไทย

 

๓. สินค้าบางอย่างที่พ่อค้านำมาขายกับเรือสินค้าของตนนั้น  รัฐบาลกำหนดให้เป็นสินค้าบังคับซื้อ  เนื่องจากเป็นสินค้าต้องการใช้ในราชการ  เช่น เครื่องศาสตราวุธต่างๆ จึงบังคับให้ขายกับรัฐบาลเท่านั้น  เว้นแต่ว่าสินค้าบางชนิด ที่บรรทุกเข้ามาขายมากเกินความต้องการของรัฐบาล  จึงจะอนุญาตให้ขายแก่ประชาชน  และเกิดเป็นธรรมเนียมว่า  เมื่อเรือเข้ามา  เจ้าพนักงานจะต้องคอยลงตรวจดูสินค้าที่รัฐบาลต้องการเสียก่อน  วิธีนี้เรียกว่า  "อำนาจในการเลือกซื้อของหลวง" เป็นรายได้ทางหนึ่งของรัฐบาลและเป็นการผูกขาดโดยตรงวิธีหนึ่ง

 

๔.  สินค้าต้องห้าม  สินค้าพื้นเมืองบางอย่างของไทย  เช่น  ดีบุก  งาช้าง  หนังสัตว์  เป็นสินค้าออกที่ต่างประเทศต้องการ  แต่สินค้าเหล่านี้เป็นทรัพยากรอันมีค่าและเป็นของหายาก รัฐบาลเกรงว่าถ้าปล่อยให้มีการค้าขายสินค้าได้สะดวกตามท้องตลาด ก็จะทำให้คนเที่ยวฆ่าสัตว์  ตัดต้นไม้  ทำลายป่า  และขุดแร่โลหะอันมีค่าให้หมดสิ้นโดยเร็ว  จึงกำหนดให้สินค้าพื้นเมืองเหล่านี้เป็น  สินค้าต้องห้าม  ถ้าผู้ใดมีสินค้าดังกล่าวจะต้องขายให้แก่รัฐบาลเท่านั้น  และผู้ซื้อก็ต้องซื้อจากพระคลังสินค้า

 

กฎหมายลักษณะอาญาหลวง  ได้ระบุสินค้าต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่  ๑  ไว้มี  ๗  อย่าง  คือ  ไม้กฤษณา  ไม้ฝาง  ไม้จันทน์  ไม้หอม  นอระมาด  (นอแรด)  งาช้าง  และดีบุก    ส่วนสินค้าออกสำคัญนอกจาก  ๗  อย่างดังกล่าวก็ได้แก่  ข้าวสาร  หนังสัตว์  เขาสัตว์  ปลาแห้ง  ปลาเค็ม  และช้างเป็น ๆ ข้าวสารนั้นปกติเป็นสินค้าห้ามส่งออกต่างประเทศอย่างเด็ดขาด  เพราะเกรงว่าจะเกิดข้าวยากหมากแพงภายในประเทศ  เป็นมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศโดยตรง  ผู้จะค้าได้จึงมีแต่รัฐบาลเท่านั้น

 

จีน : ประเทศคู่ค้าของไทย

            ไทยกับจีนทำการค้ากันในระบบ "บรรณาการ" หรือ "จิ้มก้อง" มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตรงกับจีนในสมัยพระเจ้าเฉิงจงแห่งราชวงศ์หยวน  เป็นรูปแบบที่จีนถือว่าต่างชาติทุกชาติเป็นเมืองขึ้น แต่ฝ่ายไทยถือว่าไทยได้ประโยชน์อย่างทางการค้ามากกว่า โดยทุก ๓ ปี ไทยจะส่งสิ่งของซึ่งส่วนใหญ่เป็นของป่าที่มีค่าไปบรรณาการจักรพรรดิจีน ซึ่งจีนจะตอบแทนกลับมามากกว่าที่ได้รับ ไทยได้ประโยชน์มากจึงส่งไปทุกปี บางปีก็ไปก่อนกำหนด และจัดไปเป็นกระบวนใหญ่ มีทั้งภาคเอกชนร่วมไปกับเรือหลวงด้วย

นอกจากนั้น ยังมีชาวจีนอพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์ทางด้านการค้า การบัญชี การเดินเรือ ตลอดจนความรู้ทางเทคโนโลยีการผลิตอื่นๆ โดยไม่มีอุปนิสัยแทรกแซงทางการเมือง นับถือพุทธศาสนา ประกอบกับการค้าที่ต้องใช้ภาษาจีน คนจีนอพยพเหล่านั้น จึงมีคุณสมบัติเหมาะสมยิ่งที่จะเป็นตัวแทนการค้าในระบบจิ้มก้อง

เศรษฐกิจภายใต้การกำกับราชการของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เจริญรุ่งเรืองมาก  ผลประโยชน์จากการค้าส่วนหนึ่งได้ทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระราชบิดาเพื่อทรงใช้จ่ายในราชการอย่างเพียงพอ  จนพระราชบิดาถึงทรงตรัสเรียกว่า “เจ้าสัว”

เมืองท่าของจีน ที่ไทยส่งสินค้าเข้าไป คือ  กวางตุ้ง  นอกจากนั้น ยังมีที่แวะเข้าไปยังเมืองท่าอื่นๆ คือ เกียงมุย ชางลิม เอ้หมึง ลิมโป หรือนิงโป เซี่ยงไฮ้ ซูเจา

มีบันทึกไว้ว่า  ในรอบ  ๑๐  ปี นับจาก พ.ศ. ๒๓๖๓ – ๒๓๗๓  มีเรือสินค้าไปค้าขายที่เมืองท่าเซี่ยงไฮ้  ซูเจา  และนิงโป  ถึง  ๘๙ ลำ

การค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์  มีความเจริญรุ่งเรืองมาก  เรือไทยไปค้าที่สิงค์โปรเพิ่มจาก  ๒๗  เป็น ๔๔  ลำ  เพื่อค้าขายดีบุก  พริกไทย  ข้าว  น้ำตาล  ยาสูบ  ครั่ง  ไม้ฝาง  เกลือ  น้ำมันมะพร้าว

 

หลักฐานของเบอร์นี  บันทึกว่า  ปลาย พ.ศ. ๒๓๖๓  ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับบริเวณ British  Straits  Settlement  หรือดินแดนในการปกครองของอังกฤษ  คือ สิงคโปร์  มะละกา  ปีนัง  จากมูลค่าส่งออก  ๑,๑๒๘,๗๘๕  รูปี  โดยซื้อสินค้าเข้า  ๖๙๙,๓๓๙ รูปี  ได้เปรียบดุลการค้า  ๔๒๙,๔๔๖ รูปี 

การค้าระหว่างไทยและเกาะหมาก  (ปีนัง) ก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ  ๓๙  (พ.ศ.๒๓๖๓ - ๒๓๖๔)

 

ผลิตผลในประเทศที่สำคัญ

ผลิตภัณฑ์ในประเทศย่อมเป็นสินค้า “ลงสำเภา”  ไปขายต่างประเทศ ผลิตผลที่สำคัญ  เช่น

๑.  ข้าว  ปลูกมากที่ปทุมธานี  อยุธยา  นนทบุรี  นครปฐม  กรุงเทพฯ นนทบุรี  สุพรรณบุรี  อ่างทอง  สิงห์บุรี  ลพบุรี  ชัยนาท  นครสวรรค์ เมืองพรหม  เมืองสิงห์

นอกจากนั้น ยังมี พริกไทย ปลูกมากที่ชลบุรี จันทบุรี ตราด ภาคใต้ที่ตรัง   และสตูล

๒.  น้ำตาล  ได้มีการปลูกอ้อยเพื่อทำน้ำตาลในเขตเมืองรอบราชธานี  เช่น  นครปฐม  สมุทรสาคร  นครชัยศรี  บริเวณแม่น้ำแม่กลอง  สมุทรสงคราม  ราชบุรี  และบริเวณแม่น้ำบางปะกง  เช่น  ที่เมืองฉะเชิงเทรา 

น้ำตาล เป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดโลก  จึงเกิดนายทุนลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลจำนวนมาก  ผู้มีเงินทั้งพ่อค้า และขุนนางต่างร่วมลงทุน เกิดการเก็บภาษีชั้นในขึ้น  ๓๘  อย่าง  เช่น ภาษีบ่อนเบี้ย  ภาษีพริกไทย  ภาษีไม้ฝาง  ภาษีต้นยาง  ภาษีไม้ชัน  ภาษีกระทะ ฯลฯ  เป็นรายได้ของแผ่นดินอีกทอดหนึ่ง  น้ำตาลมีราคาสูงมาก  จนเกิดการผูกขาดและการกว้านซื้อน้ำตาลจากผู้ผลิต  ในช่วงที่การค้าของไทยกับสิงคโปร์รุ่งเรือง  ไทยส่งน้ำตาลไปค้ายังสิงคโปร์ถึง  ๓๗๐,๒๔๒ รูปี ในขณะที่ส่งข้าวเพียง  ๑๖๖,๑๘๕  รูปี  ดีบุก  ๕๗,๕๗๓ รูปี

อุตสาหกรรมการทำน้ำตาลเจริญเติบโตเร็วมาก  ในปลายรัชกาลที่ ๒  ส่งออก  ๘๐,๐๐๐  หาบ  ในรัชกาลที่  ๓  เพิ่มเป็น  ๑๐๐,๐๐๐  หาบ  และขึ้นถึง  ๑๐๗,๐๐๐  หาบ

น้ำตาลไทยมีคุณภาพดีกว่าที่อื่น  พ.ศ. ๒๓๘๓  ยอดส่งออกเพิ่มถึง  ๒๔๐,๐๐๐ หาบ แหล่งรับซื้อรายใหญ่ คือ อังกฤษ บอมเบย์ และสิงคโปร์ (ในปลายรัชกาล การส่งออกลดลง  เพราะมีผู้ค้าแข่งชาติอื่นเพิ่มขึ้น)

๓.  อุตสาหกรรมการต่อเรือ   เรือสำเภาที่ต่อจากไทยได้รับความนิยมมาก  เพราะใช้ไม้คุณภาพดีในประเทศไทยเอง  เช่น  ไม้พะวา  ไม้เคี่ยม  ไม้หามกราย   ไม้ตะเคียนทอง  ไม้สัก  ราคายังถูกกว่าต่อที่จีน ๕๐ ถึง ๑๐๐ %

มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม  จนถึงบางคอแหลม  รวมทั้งบริเวณชายฝั่งทะเลของไทย  เช่น  จันทบุรี  นครศรีธรรมราช  สงขลา  ปัตตานี

ปีหนึ่ง ๆ ไทยต่อเรือขนาดใหญ่ได้ ๖ – ๘ ลำ  คิดราคาตันละ  ๒๕ บาท  เรือขนาดเล็ก  ตันละ  ๑๕  บาท

ในปลายรัชกาลที่ ๓  เมื่อเรือกำปั่นฝรั่งเป็นที่นิยม  ไทยก็ต่อเรือกำปั่นใช้เอง  เป็นทั้งเรือรบและเพื่อการค้า

  ลักษณะของเรือสำเภาจีน

๔. อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่  ไทยมีแร่ธาตุหลายชนิด  ได้แก่  เกลือ  ดินปะสิว  ทองคำ  ทองเหลือง  ทองแดง  พลวง  ตะกั่ว  สังกะสี  และพลอยต่าง ๆ แต่แร่ที่ได้รับการส่งเสริมและมีราคาในสมัยนั้น  คือ  เหล็ก  และดีบุก

แร่เหล็ก  มีความจำเป็นต่อการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น  จอบ  เสียม  ตะปู  โซ่ ฯลฯ  มีแหล่งแร่เหล็กทางภาคเหนือของไทย  โดยเฉพาะที่ท่าซุง            จ.อุทัยธานี  มีโรงงานถลุงเหล็ก  ทำเหล็กหล่อส่งเมืองหลวง  โรงงานบางแห่งมีคนงานร่วม  ๖๐๐  คน  ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน

แร่ดีบุก  เป็นสินค้าออกสำคัญ  ส่งออกไปจีนและสิงคโปร์  แหล่งผลิตอยู่ทางใต้ของไทย  นอกจากนั้น  ยังนำไปแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธปืนกับพ่อค้าชาวตะวันตก

มีการส่งเสริมการผลิตแร่ดีบุกมากขึ้น  โดยให้เจ้าภาษีนายอากรเป็นผู้ประมูลผูกขาดอากรดีบุกและลงทุนทำเหมืองแร่เอง  โดยจ้างแรงงานจีนเช่นเดียวกับการทำน้ำตาลทราย

    คอซู้เจียง

    พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี

    ผู้เป็นต้นสกุล ณ ระนอง

    เข้ามาประมูลอากรดีบุกแขวงเมืองตระ

    และเมืองระนองในปลายรัชกาลที่ ๓

    ต่อมาขยายกิจการเข้าไปยังเมืองหลังสวนด้วย

    คอซู้เจียงและบุตรชายทั้งหลายสร้างความเจริญ

    ให้กับดินแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก

 

 

อังกฤษ : ชาติตะวันตกขยายอิทธิพลทางการค้า

ต้นรัชกาลที่ ๓  ร้อยเอกเฮนรี่เบอร์นี  (Captain  Henry  Burney) เป็นทูตอังกฤษ  เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี  ได้มีการเจรจาทางการค้ากัน  อังกฤษยอมรับว่า  ไทยมีสิทธิในดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู (ไทยจะไม่แผ่อิทธิพลไปมากกว่านั้น)

เบอร์นี เข้ามาในนามของรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย  หรืออีกนัยหนึ่ง จากบริษัท อีสต์ อินเดียอังกฤษ  ซึ่งได้รับสัมปทานขยายอิทธิพลการค้าจากรัฐบาลอังกฤษ

ผลการเจรจาทำให้พ่อค้าอังกฤษสามารถเข้ามาค้าขายกับไทยได้โดยเสรี  ปราศจากการผูกขาดจากพระคลังสินค้า  และเสียภาษีในอัตราที่แน่นอน (เรือมีสินค้าเก็บภาษีปากเรือวาละ  ๑,๗๐๐ บาท เรือเปล่าเก็บวาละ ๑,๕๐๐ บาท) ซึ่งเป็นการบีบคั้นรัฐบาลไทย

การทำสนธิสัญญาดังกล่าว  มีผลให้เกิดระบบเจ้าภาษีนายอากรขึ้น  เพื่อปกป้องการค้าของไทย  เกิดการประมูลภาษีจากขุนนางนายอากร  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน  มีผลทำให้ความมั่งคั่งและอำนาจต่าง ๆ อยู่ในมือของเจ้าภาษีและขุนนางข้าราชการที่เกี่ยวข้อง แต่รัฐก็มีรายได้ที่แน่นอนและเป็นกอบเป็นกำ

ต่อมาหลังนั้นอีก ๖ ปี ไทยได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับสหรัฐ อเมริกาเช่นเดียวกับอังกฤษ

 

รายได้ของแผ่นดิน

รายได้หลักของประเทศมีอยู่  ๒  ทาง  และมีความเกี่ยวข้องกัน  คือ

.  รายได้จากส่วยสาอากร

.๑  ส่วย  คือผลผลิตที่ราษฎรเอามาเสียแทนแรงงาน  เช่น  ดีบุก  ดินปะสิว  ครั่งฝาง  พริกไทย  น้ำรัก  ทองคำผุย  เงิน  ขมิ้นสด  ป่าน  ผ้าทอ  กระเบื้อง  ไม้ต่าง ๆ หวาย  เป็นต้น  ซึ่งรัฐบาลจะส่งเป็นสินค้าลงสำเภาไปขายยังประเทศต่าง ๆ เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ

ไพร่บางเมืองส่งส่วยดีบุก เช่น เมืองถลาง บางเมืองส่งส่วยขี้ผึ้ง เช่นเมืองสุโขทัย  บางเมืองต้องส่งส่วยหลายอย่าง เช่น นครศรีธรรมราช ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง นอระมาด งาช้าง ดีบุก ปีกนก และดินปะสิว การส่งส่วยต้องส่งทุกปี เมืองเล็กขึ้นกับเมืองใหญ่เมืองใด ก็ส่งส่วยที่เมืองใหญ่นั้น แล้วเมืองใหญ่จะส่งต่อมายังราชธานี

.๒ เงินข้าราชการจากไพร่  สำหรับไพร่หลวงที่ไม่ต้องการเข้ารับราชการ  จะส่งเงินมาแทนก็ได้  โดยจ่ายปีละ  ๑๘  บาท ส่วนไพร่สมจ่ายปีละ  ๖  บาท   เงินข้าราชการของไพร่บางปีเก็บได้ถึง ๑๒ ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด  ประมาณ  ๒๗  ล้านบาทต่อปี  (สังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้บันทึกไว้  แต่มิได้ระบุปีใด  ศักราชที่เขียนเรื่องคือ พ.ศ. ๒๓๙๗  อยู่ในต้นรัชกาลที่  ๔)

 

พวกทาสที่ได้รับการยกเว้นเกณฑ์แรงงาน นายทาสจะต้องจ่ายเป็นเงินให้รัฐบาลคนละ ๕ บาทต่อปี (ทาสสมัยรัชกาลที่ ๓ มีประมาณ ๑ ใน ๓ ของราษฎรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นทาสเพราะถูกกวาดต้อนมาจากสงคราม และทาสเพราะหนี้สิน )

.๓  เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน  มีชาวจีนอยู่ในประเทศไทยขณะนั้นประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน รัฐเก็บเงินค่าผูกปี้จากชาวจีนที่อายุ  ๒๐  ปีขึ้นไป  (เก็บตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒) เพราะคนชาติอื่นที่เข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นลาว มอญ เขมร  พม่า แขก ญวน หรือจีน บางคนที่เข้าสังกัดมูลนายจะได้รับการสักข้อมือเป็นไพร่  แต่คนจีนส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้น  รัฐบาลเห็นว่าไม่ยุติธรรม  จึงสมควรหาวิธีให้คนจีนได้ตอบแทนรัฐบ้าง และเป็นการ "ขึ้นทะเบียนคนจีน"  ด้วย การผูกปี้ ใช้ด้ายผูกข้อมือแล้วตีครั่งลงเงื่อน  (ค่าผูกปี้ได้มีการปรับปรุงอัตราให้เหมาะสม เพราะบางแห่งบันทึกไว้ว่าเสียอัตราปีละ  ๑.๕๐  บ้างว่าปีละ  ๒  บาท  บ้างว่าเสีย  ๕  บาท ทุก ๓ ปี บางแห่งว่าเสียเดือนละ ๖ บาท)

ลูกหลานจีนที่เกิดในเมืองไทย  ถือเป็นไพร่ (ราษฎร)  ไม่ต้องเสียเงินผูกปี้  รัฐได้ค่าผูกปี้จากคนจีนปีหนึ่ง ๆ ประมาณ  ๒๐๐,๐๐๐  บาท  (สังฆราชปาลเลอกัวซ์กล่าวว่า  ต้นรัชกาลที่  ๔  รัฐได้ค่าผูกปี้ถึง  ๒  ล้านบาท) การผูกปี้ข้อมือจีนนับว่าเป็นผลดีกับรัฐบาลในการด้านปกครอง การเมือง และเศรษฐกิจ  เป็นการควบคุมพลเมืองจีนในทางอ้อม  ทำให้ทราบที่อยู่อาศัย  และให้ชาวจีนได้ตอบแทนราชการไทยด้วย

.๔  อากร  แต่เดิมอากรที่ถือว่าสำคัญมาก  คือ  อากรค่าสวนต้นไม้ใหญ่  ค่านา  และอากรสวนจาก  วิธีการจัดเก็บเรียกว่า  "เดินสวนเดินนา"

การเดินสวน  จะเก็บอากรตามจำนวนและชนิดของต้นไม้ที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของสวน การเดินสวนนี้ นาน ๆ จึงจะเดินกันครั้งหนึ่ง มักจะเริ่มเดินเมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่  บางรัชกาลก็มีการเดินสวน  ๒  ครั้ง ข้าหลวงเดินสวนมีหน้าที่ตรวจรังวัดที่ดินและทำโฉนดให้แก่เจ้าของสวน  ระบุจำนวนต้นผลไม้ เจ้าพนักงานพระคลังจะเก็บเงินอากรตามโฉนดทุกปีตามที่ข้าหลวงเดินสวนได้ทำไว้  จนกว่าจะมีการเดินสวนกันใหม่

 

การเดินนา  คล้ายกับการเดินสวน  โดยจ่ายอากรเป็นหางข้าว  คือ ราษฎรทำนาได้มากน้อยเท่าไร  แบ่งส่วนหนึ่งเป็นค่าภาคหลวง  เช่นสมัยรัชกาลที่  ๒  เก็บค่าภาคหลวงไร่ละ ๒ สัดครึ่ง เจ้าของนาต้องขนข้าวมาส่งที่ฉางหลวงเอง เป็นต้น  ในสมัยรัชกาลที่  ๓  กำหนดเก็บเป็นเงิน  ๓  เฟื้องต่อนา ๑ ไร่ 

นอกจากนั้น ยังมีอากรที่เก็บจากของป่า  จับปลา  ต้มกลั่นสุรา  และบ่อนการพนัน  เป็นต้น

.๕  ภาษีศุลกากร  เก็บตามความกว้างของปากเรือ  เรียกว่า  "ภาษีปากเรือ"  เป็นภาษีที่เก็บจากเรือที่บรรทุกสินค้าเข้ามาขายในประเทศ  หรือส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ

.๖ จังกอบ เป็นภาษีที่เก็บจากส่วยสินค้าและผลผลิต เก็บ ๑๐๐ ชัก ๑๐  โดยมีด่านจังกอบหรือขนอน  หรือด่านภาษี  ซึ่งตั้งอยู่ปากทางเข้าเมืองเป็นผู้เก็บผลผลิตส่งเข้ายุ้งฉางหลวง

.๗  ฤชา  คือค่าธรรมเนียมที่รัฐทำให้ราษฎรเป็นการเฉพาะตัว เช่น ค่าธรรมเนียมการออกเอกสารสิทธิ์ต่างๆ

 

นอกจากนั้น  เมื่อการค้าน้ำตาลเฟื่องฟู  ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔  ราษฎรผู้ประกอบการผลิตมีรายได้มาก รัชกาลที่  ๓  จึงทรงตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่  ๓๘  อย่าง  ถือเป็น  "ภาษีภายใน" สำหรับเก็บจากผู้ประกอบการผลิต ทำให้ราคาของผลิตผลสูงขึ้น เป็นรายได้ของประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลซึ่งตลาดยุโรปต้องการมาก ทั้งนี้จะเก็บจากวัตถุดิบและกระบวนการผลิต รวมทั้งเก็บจากสินค้าลงสำเภาและการพนัน เช่น อากรบ่อนเบี้ย  หวย   ก.ข. ภาษีพริกไทย  ภาษีไม้  ภาษีเกลือ  ภาษีน้ำมันต่าง ๆ   ภาษีต้นยาง  ภาษีจาก  ภาษีกะทะ  ภาษียาสูบ  ภาษีคราม  ภาษีเนื้อแห้ง  ปลาแห้ง  ภาษีเคย  ภาษีน้ำตาล  ภาษีจันอับ  ไฟ  เทียนไข  ขนมต่าง ๆ  ภาษีปูน  เป็นต้น

 

  1. รายได้จากการค้าสำเภา

การค้าสำเภาหรือการค้าระหว่างประเทศของไทยนั้น พบหลักฐานเป็นซากเรือสำเภาและเครื่องถ้วยสังคโลกสมัยสุโขทัยจมอยู่บริเวณปากอ่าวไทย  แสดงว่าอย่างน้อยสมัยสุโขทัยมีการค้าทางทะเลระหว่างไทยกับจีนแล้ว

เมื่อไทยส่ง "เครื่องราชบรรณาการ" หรือ "จิ้มก้อง" ไปยังราชสำนักจีน  เป็นธรรมเนียมของจีนที่จะต้องให้สิ่งของตอบแทนเป็นมูลค่ามากกว่าของที่ได้รับ  สิ่งของตอบแทนที่จีนให้แก่ไทยมักเป็นผ้าไหม  ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด  และเครื่องถ้วยชามอย่างดี  ของเหล่านี้เป็นที่ต้องใจของพ่อค้าชาวต่างประเทศที่มาค้าขายยังราชธานีเช่นกรุงศรีอยุธยา  ทำให้รัฐบาลไทยมองเห็นลู่ทางการหาเงินเข้าท้องพระคลัง  จึงแฝงสินค้าพื้นเมืองลงเรือร่วมไปกับเครื่องจิ้มก้อง  เมื่อขายสินค้าได้ก็ซื้อของเมืองจีนกลับมาขายเมืองไทย  รัฐบาลจีนยังยกเว้นภาษีศุลกากรสินค้าออกให้เป็นพิเศษ  เพราะเห็นว่าไทยมาไกล  การค้าขายของรัฐบาลไทยได้ผลดีจึงส่งเครื่องจิ้มก้องไปเมืองจีนทุกปี  รัฐบาลจีนเห็นว่า ไทยมาบ่อยเกินไป จึงออกข้อบังคับให้ประเทศชายทะเลไกล ๆ เช่น ไทย ส่งเครื่องบรรณาการเพียง  ๓  ปี  ต่อครั้ง  แต่รัฐบาลไทยก็ยังส่งไปอีกทุกปี  โดยยอมเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่นพ่อค้าธรรมดา  แม้กระนั้นก็ยังได้กำไรมากอยู่

นอกจากนั้น การค้าของรัฐบาลยังเป็นการค้าผูกขาด สินค้าที่ส่งไปขายเป็นสินค้าที่ได้เปล่า  เพราะได้มาจาก  "ส่วย"    ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ซึ่งมีความชำนาญในการเดินเรือและการต่อเรือ เพราะมาจากฝั่งทะเลแถบฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง รัฐบาลจึงจ้างชาวจีนมาประจำในเรือสำเภา  ดังปรากฏในทำเนียบศักดินาข้าราชการพลเรือน  เช่น  สำเภาจีนตำแหน่งต่าง ๆ ที่บรรจุในเรือมีชื่อเป็นภาษาจีนทั้งสิ้น  ตั้งแต่ผู้บังคับการเรือที่เรียกว่า  จุ้นจู้  จนกระทั่งถึงตำแหน่งลูกเรือ

 

พ.ศ. ๒๓๖๔ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ชาวจีนในประเทศไทยได้ทำการต่อเรือ ๑๓๖ ลำ มี ๘๒ ลำ ดำเนินการค้าระหว่างไทย-จีน อีก๕๐ ลำระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ ลูกเรือเกือบทั้งหมดเป็นชาวจีน ชาวจีนที่ปฏิบัติงานบนเรือดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ ๘,๐๐๐-๙,๐๐๐ คน ชาวจีนในประเทศไทยถูกมองว่า "เป็นตัวแทนพ่อค้านักการเดินเรือสำหรับการค้าระหว่างประเทศที่ดีที่สุด"

ลักษณะของเรือสำเภาจีน
 

ส่วนเรือที่ทำการค้าระหว่างประเทศนั้น  สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีเรือ ๓ ประเภท  คือ  เรือสำเภาของจีน  เรือสลุปของแขก  และเรือกำปั่นของฝรั่ง  เรือสำเภาจีนรูปร่างอุ้ยอ้ายและแล่นช้า  แต่มีข้อดีที่กินน้ำตื้นและบรรทุกสินค้าได้มาก  ข้อเสียอยู่ที่ใบเรือรูปสี่เหลี่ยมใหญ่โต  เก้งก้าง  มีเสาใบ   ๓  เสา  ใบเรือก็มีหลายผืนขนาดเล็กเป็นขั้น ๆ ขึ้นไป  แต่เนื่องจากการค้าส่วนใหญ่ของไทยค้ากับจีน  และผู้ต่อเรือก็เป็นช่างจีน จึงนิยมสร้างเรือเดินทะเลเป็นเรือสำเภา  เพื่อให้กลมกลืนเข้าไปค้าขายในประเทศจีนได้โดยสะดวก 

.ศ. ๒๓๘๖  (หลังจากทำสัญญาทางการค้ากับอเมริกาไปแล้ว  ๑๐  ปี)  ได้มีเรือกำปั่นไฟลำแรกแล่นเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเห็นประสิทธิภาพของเรือกำปั่นไฟแล้ว  มีพระราชปรารภว่า ต่อไปสำเภาแบบจีนจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมไป  อีกหน่อยลูกหลานไทยจะไม่รู้จักเรือสำเภาว่าหน้าตาเป็นอย่างใด เมื่อทรงบูรณะวัดคอกกระบือ แขวงอำเภอบ้านทวายขึ้นเป็นวัดหลวง  โปรดให้ก่อพระเจดีย์เป็นเรือสำเภาแบบจีน  ขนาดเท่าเรือจริง  เพื่อลูกหลานในชั้นหลังจะได้รู้จักเรือสำเภาว่าหน้าตาเป็นอย่างใด แล้วพระราชทานนามว่า วัดญานนาวา ต่อมาเรียก "วัดยานนาวา"

 

เรือในสมัยรัชกาลที่ ๓

            เรือของไทยขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ  ในยามสงครามก็ใช้ในการรบ  ยามปกติก็ใช้ในการค้า   โดยแบ่งลักษณะเรือออกเป็น  ๒  ประเภท  อย่างกว้าง ๆ คือ 

            ๑. เรือแบบตะวันออก  ได้แก่  เรือสำเภา  หรือเรือแบบจีน  คำว่า  “สำเภา”  มีกำเนิดมาจากคำว่า  “ตะเภา”  ซึ่งหมายถึงลมที่พัดมาจากทิศใต้  เรือค้าขายที่มาจากประเทศจีน  ซึ่งมีการค้าขายติดต่อกับประเทศไทยมากที่สุดนั้น  โดยมากเข้ามาในประเทศไทยปีละครั้งในฤดูร้อน  ซึ่งเป็นฤดูที่มีลมตะเภาพัดมาจึงได้เรียกเรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนว่า  “เรือตะเภา”  หรือ  “สะเภา”  แล้วภายหลังเรียกว่า  “เรือสำเภา”  ซึ่งหมายถึงเรือที่มาจากประเทศจีน  เรือของจีนนั้นก็มีหลายแบบหลายชนิด  เช่นเดียวกับเรือของประเทศอื่น ๆ เหมือนกัน  ดังนั้นเรือสำเภาจึงมีความหมายอย่างกว้าง ๆ ว่า  เป็นเรือขนาดใหญ่แบบจีน

ลักษณะเรือสำเภา ตามแบบที่ นายยง  อนุมานราชธน เล่า

 

นายยง  อนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เล่าว่า  เรือสำเภาชนิดนี้ตอนหัวเรือตรงที่แหวะออกเรียกว่า ปากปลา  มีลูกกรงเป็นลายประแจจีนสำหรับยึดปากปลา  สองข้างปักธงตะขาบข้างละอัน  ถัดหัวเรือเข้ามา ทั้งสองข้างเขียนเป็นตาเรือสีขาวดำ  ตอนหน้าเรือปิดกระดาษตุ๊ยหลินมีตัวหนังสือจีน (อย่างที่ใช้ปิดไว้สองข้างประตูเรือน) ข้างหนึ่งเขียน “เล่งเท้าแชกิมกั้ก” แปลว่าหัวมังกรงอกเขาทอง อีกข้างหนึ่งเขียนว่า “โหวเค้าฮวดงิ่นเง้”  แปลว่าปากเสืองอกเขี้ยวเงิน  ตอนหัวเรือด้านตัดถัดปากปลาลงไปทาสีพื้นแดง ตรงกลางมีตะปิ้งทำด้วยกระดานรูปคล้ายสิงห์โต สำหรับพาดปากปลา   ใจกลางเขียนรูปวงกลมทาสีขาว  ข้างเรือทั้งสองข้างทำเป็นช่องใหญ่แล่นเป็นช่อง ๆ ตลอดไปตั้งแต่หัวเรือถึงท้ายเรือเว้นตอนกลางเรือแต่ค่อนไปทางท้ายหน่อยไว้             ช่องหนึ่ง  แหวะเป็นช่องทะลุสำหรับขึ้นลง  กราบอยู่ปริ่มน้ำเพียงราโทเรือเรียกว่าปอมึ้ง  มีทั้งสองข้างเรือ และปิดกระดาษตุ๊ยหลินช่องละคู่ ข้างหนึ่งว่า “ซุ่นฮวงซุ่นจุ๊ยซุ่นนั่งอี่” แปลว่าได้ทรัพย์ได้กำไรได้ทองหมื่น ตอนท้ายเรือยกเป็นดาดฟ้าสูง กั้นข้างเป็นลายสี่เหลี่ยมอยู่ข้างเรือ เหนือขึ้นไปมีลูกกรงเป็นซี่ๆ ท้ายเรือทีเดียว  ปักเนี้ยสั่ว  คันหนึ่งอยู่ตรงกลาง  สองข้างปักธงปลายแหลมข้างละคู่  ท้ายเรือด้านตัดทาสีแดงมีวงกลมสีขาวใต้วงกลมเป็นตัวหนังสือจีนบอกชื่อเรือ  ถัดลงมาตอนเหนือน้ำเขียนเป็นรูปนกอินทรีแล้วจึงถึงหางเสือทำด้วยไม้เขลงทิ่มลงไปดื้อ ๆ เอาเชือกหลายเส้นโยงรั้งไว้ไม่ให้จมน้ำต่ำลงไป  แล้วมีเชือกอีกสองเส้นรั้งตอนล่างของหางเสือไม่ให้กระดกขึ้น  เชือกสองเส้นนี้ลอดท้องเรือไปขึ้นทางหัวเรือ  มีลูกประคำทำด้วยไม้สัก เรียกว่า  เลกโต๊ะร้อยเชือก  ตลอดไปเพื่อกันเพรียงกัดเชือกขาด

เสาใบ  มีตอนหัวเสาหนึ่ง  และตอนกลางอีกเสาหนึ่งเสาใบทำด้วยไม้สัก  มีปลอกเหล็กคาดเป็นเปลาะ ๆ แล้วมีไม้ประกับตามยาวราว ๘ อัน  เพื่อกันไม่ให้ใบเมื่อขันฉ้อขึ้นติดปลอกเหล็ก  ตัวใบใช้เสื่อกระจูดเพลาะกันหลายผืน  แล้วมีไม้ไผ่เมืองจีนสามลำทาบตามใบเรียงกันขึ้นไป  จนใช้เดินต่ายได้

พนักงานประจำเรือคือจุ้นจู้ มีหน้าที่เป็นนายเรือ  แต่ผิดกับนายเรือที่เรียกว่ากัปตัน เพราะจุ้นจู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในสินค้าทั้งหมด จะซื้อขายอย่างไรก็ทำได้แล้วแต่จะเห็นสมควร  แต่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทั่วไปในเรือ  ซึ่งตกเป็นหน้าที่ของ ฮอจ่างหรือต้นหนส่วนการควบคุมบัญชีสินค้าเป็นหน้าที่ของล้าต้า คนถือท้ายเรียกว่า  ไต้ก๋ง  นอกจากนี้ยังมีพนักงานช่างไม้  คนครัวและอื่น ๆ อีกหลายคนพวกคนเรือชั้นเลวแบ่งออกเป็น ๒ พวก  พวกหนึ่งเป็นชั้นหัวหน้าเรียกว่า  เท่ามัก  มีอยู่ ๒ – ๓ คน  มีหน้าที่ดูแลสมอ  ใบเรือและอื่น ๆ อีกพวกหนึ่งเป็นพวกคนเรือชั้นเลว  เกี่ยวกับถอนสมอ  ชักใบ  ลดใบและงานกุลีต่าง ๆ

พนักงานในเรือทุกคน  ยกเว้นพวกคนเรือชั้นเลว  มีห้องบาหลีสำหรับตนเอง  เป็นห้องขนาดเล็กแคบอุดอู้ยินไม่พ้นศีรษะ  ถ้าใครจะโดยสารไปกับเรือสำเภา  ประสงค์จะได้อยู่บาหลีสำหรับหลับนอนก็ต้องเช่าจากเจ้าของบาหลีจะตกลง  พนักงานในเรือเหล่านี้มีสิทธิบรรทุกสินค้าไปขาย  หรือซื้อสินค้ามาจำหน่ายส่วนตัวได้มากน้อยตามส่วนที่กำหนดให้
 

การเดินเรือสำเภาไม่มีแผนที่เดินเรือ  ใช้แต่เข็มทิศเป็นเครื่องช่วย  นอกนั้นใช้สังเกตฝั่งดูแหลมเป็นเครื่องหมาย  เพราะฉะนั้นเรือสำเภาจึงไม่กล้าออกทะเลลึก  เพราะหาที่สังเกตไม่ได้ต้องพยายามแล่นให้ใกล้ฝั่งเสมอ  หน้าสำเภาเข้าในระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ คือ แล่นเรือมาในระหว่างมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  พัดลงใต้และออกไปในราวเดือน ๗ เดือน ๘ ให้ทันลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  ซึ่งพัดขึ้นเหนือ

            เรือสำเภาเขามักจะมาถึงคราวละ  ๓ – ๔ ลำ  จอดอยู่แถวปากคลองโอ่งอ่าง  แต่ล้ำไปทางทิศตะวันตก  จอดเรียงกันเป็นสองแถว  หันหัวไปทางปากน้ำ  ถ้าเรือลำใดมาทีหลัง  เรือลำที่จอดอยู่ก่อนจะมีคนไปยืนอยู่หัวเรือตีม้าฬ่อรับ  ๓ ลา  เรือที่กำลังเข้ามาก็ตีรับเช่นเดียวกัน  ถึงคราวปิดระวางเรือ  ต้องมีเจ้าพนักงานไป  “เหยียบหัวตะเภา”  เพื่อเจ้าพนักงานจะได้เลือกซื้อสินค้าที่ต้องการเสียก่อนและตามธรรมดาเรือก็มีของขวัญให้แก่ผู้ “เหยียบหัวตะเภา”  ด้วยได้ทราบว่าเจ้าพนักงานเหยียบหัวตะเภาตกเป็นหน้าที่ขุนท่องวารีหรือภักดีจำไม่ถนัด  ข้าราชการกรมท่าซ้าย เสร็จแล้วจึงจะจัดการขายสินค้าได้   พวกลูกเรือมีสิ่งของเบ็ดเตล็ดอะไรต่าง ๆ ที่ซื้อ

เป็นสินค้าส่วนตัว  ก็เอาออกมาวางขายบนเรือ  มีคนไปเลือกซื้อกันอย่างสนุกสนาน  คล้ายตลาดยี่สาน  เป็นเวลานานตั้งสองเดือน

            ระหว่างเรือสำเภายังจอดอยู่จนกว่าจะถึงฤดูเรือออก ก็ต้องเข้าอู่เพื่อซ่อมแซมสิ่งที่เกิดรั่วเสียหาย  อู่สำเภานี้มีตลอดไปทางฝั่งชายแม่น้ำเจ้าพระยา  ตั้งแต่ปากคลองผดุงกรุงเกษมตลอดลงไปถึงบางคอแหลม  เพราะแม่น้ำตอนนี้เป็นท้องคุ้ง  สะดวกแก่การทำอู่  ตำบลที่เรียกว่าบ้านอู่เดี๋ยวนี้  ก็คืออู่เรือสำเภานั่นเอง  อู่นั้นใช้ขุดเป็นทางเข้าไปอย่างง่าย ๆ เมื่อเอาเรือเข้าอู่แล้ว  ก็ปักซุงตอนปากอู่เอาดินถมอีกทีจนแน่น  แล้วช่วยกันวิดน้ำออก  ซึ่งต้องใช้คนมาก  อนึ่งเรือที่เข้าอู่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรือสำเภาเท่านั้นย่อมใช้สำหรับเรือเร่และเรืออื่น ๆ ด้วย

 

ทิวทัศน์ของท่าและอู่ต่อเรือของบางกอก

 เมอสิเออร์ซาบาติเอร์  วาดจากภาพสเกทช์ฝีมือ อองรีมูโอต์

แลเห็นโบสถ์เก่าของวัดอัสสัมชัญ  บางรัก  ที่สังฆราชปาเลอกัวครองอยู่

 

เซอร์ยอนเบาริงได้นำเอาเรื่องการค้าสำเภาของหมอคัตสลัฟมาเล่าไว้ในหนังสือ  Bowring’s Siam  ว่า

 

            ทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์  มีนาคม  และต้นเดือนเมษายน  สำเภามาจากไหหลำ  กวางตุ้ง  โซกา  เอ้หมึง   นิงโผ  เซียงแฮ  และเมืองอื่น ๆ อีก  สินค้าขาเข้าที่สำคัญมีของกินสำหรับชาวจีนและเนื้อเงินเป็นจำนวนมาก  จีนเลือกซื้อสินค้าเฉพาะที่จะเอาไปขายเมืองของตน  แล้วออกเรือกลับปลายเดือนพฤษภาคม  มิถุนายน  และกรกฎาคม  พวกที่จะไปถึงทะเลเหลืองบรรทุกน้ำตาล  ฝาง หมาก  ออกไปเป็นส่วนมาก  สำเภาทั้งหมดมีประมาณ  ๘๐  ลำ  เรียกว่า เรือแปะเท่าจุ้น  (เรือหัวขาว)  ตามปกติต่อในประเทศไทยมีขนาดระวาง  ๒๖๐  ถึง  ๓๐๐  ตัน  คนเรือเป็นจีนแต้จิ๋ว  สำเภาเหล่านี้ส่วนมากเป็นพ่อค้าจีนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และ ข้าราชการไทยชั้นผู้ใหญ่พวกพ่อค้าจีนใช้ญาติซึ่งโดยมากเป็นชายหนุ่มที่แต่งงานกับลูกสาวของตน  (คือลูกเขย) เป็นจุ้นจู้  ข้าราชการไทยก็ใช้ญาติเป็นจุ้นจู้เหมือนกัน  ถ้าเกิดอะไรขึ้นแก่สำเภา  คนในสำเภาต้องรับผิดชอบหมดทุกคน  ทางหมู่เกาะชวามลายูแม้การค้าจะไม่สำคัญ  แต่สำเภาก็ออกจากเมืองไทยไปค้าขายประมาณปีละ  ๓๐ – ๔๐ ลำทุกปี

 

            ในสำเภามีเฮียกง  ทำหน้าที่จุดธูปเผากระดาษเงินกระดาษทองเซ่นไหว้ทุกเช้า  เจ้าแม่ทะเลเรียกว่ามาเจียวไปหรือเทียนเฮา  สำเภาทุกลำต้องมีรูปเจ้าแม่เทียนเฮาอยู่ในท่านั่ง  มีบริวารรูปร่างน่าเกลียดยืนล้อมรอบ  หน้าที่บูชาตามโคมสว่างไสวอยู่เป็นนิจเครื่องบูชามีกิมฮวยอังติ๋ว  หน้าแท่นบูชามีถ้วยน้ำชาวางประจำ

 

            พอสำเภาจะออกเดินทางก็แห่เจ้าแม่ไปศาล  ทำพิธีเซ่นไหว้เฮียกงสวดมนต์  นายสำเภาแต่งตัวสวยเต็มที่  พร้อมด้วยลูกเรือไปกราบไหว้บูชาเจ้าแม่  แล้วเอาเครื่องเซ่นมาเลี้ยงกัน  จากนั้นก็เชิญเจ้าแม่ไปฟังหญิงสาวขับร้องมโหรี  ครั้นแล้วก็แห่เจ้าแม่กลับลงเรือสำเภา ทางสำเภาก็ตีม้าฬ่อ รับเสด็จอึงคะนึง (แถวริมแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองโอ่งอ่างลงไป  จึงมีศาลเจ้ามาก  เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม  เป็นต้น)

            เจ้าแม่ลงเรือแล้ว  ก็เป็นหน้าที่ของเฮียกงเซ่นไหว้ต่อไป  เฮียกงจะไปไหว้โดยไม่ล้างหน้าไม่ได้  ทุกเวลาเช้าต้องจุดธูปเผาเครื่องหอมเซ่นไหว้ไปทั่วทุกแห่งในลำเรือ  แม้ในครัวก็ไม่เว้น

            เมื่อสำเภาแล่นไปถึงแหลมที่เป็นหินล้ำออกมาในทะเลแห่งใดแห่งหนึ่ง  หรือเมื่อลมเปลี่ยน  เฮียกงก็ทำพิธีเซ่นเจ้าเขาเจ้าอากาศ  มีการฆ่าหมูเป็ดไก่เซ่นพร้อมด้วยเหล้าหรือผลไม้  เผาร้องบอกลูกเรือว่า  “ตามเสด็จเจ้า”  พวกลูกเรือก็กรูกันเข้าไปกินของเซ่นทันทีเมื่อสำเภาแล่นออกแม่น้ำ  ก็โปรยกระดาษเงินกระดาษทองใกล้ ๆ กับหางเสือสำเภา

            ส่วนไหน ๆ ของสำเภาไม่ได้รับการเซ่นมากเท่าเข็มทิศผ้าแดงนอกจากผู้หางเสือและสายเลียว  ยังผูกที่เข็มทิศ  จุดธูปและเผากระดาษเงินกระดาษทอง  ซึ่งทำเป็นรูปสำเภาบูชา  ข้าง ๆ เข็มทิศมีกล้องยาแดงวางไว้กับตะเกียงพร้อม  พวกคนเรือมารวมสูบสนุกสนานกันที่ตรงนี้  คราใดทะเลราบ  ลูกเรือก็เอากระดาษเงินกระดาษทองมาทำเป็นรูปสำเภาลอยไปในทะเล  ถ้าลมไม่มีก็หมายความว่าเจ้าแม่อารมณ์ไม่ดี  ต้องขอให้ผีช่วยคุ้มครอง  หากไม่เป็นผลก็หยุดเซ่นปล่อยตามบุญตามกรรม

            หมดข้อความที่แปลย่อ ๆ มาจากหนังสือของเซอร์ยอนเบาริงแล้ว  ขอเล่าเรื่องสำเภาตามตำนานศุลกากรต่อไปอีกหน่อย

            “ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓  การค้าสำเภาหลวงและของเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ลดน้อยลงทุกที  เพราะเปลี่ยนมาใช้เรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งขึ้น  พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ว่า  เรือสำเภาคงจะสูญไป  อาศัยเหตุนี้  เมื่อทรงพระราชดำริหาแบบอย่างเจดีย์ที่จะสร้างที่วัดคอกกระบือ  ทรงระลึกถึงธรรมทั้งหลาย  ซึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์  อุปมาเหมือนสำเภายานนาวา  ในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมาร  จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์มีฐานเป็นสำเภา  เท่าขนาดเรือสำเภาจริงขึ้นไว้ที่วัดคอกกระบือ  มีพระราชดำรัสว่า คนภายหน้าอยากจะเรือสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดูดังนี้  เมื่อสร้างสำเภาเจดีย์แล้ว  จึงโปรดให้ขนานนามพระอารามเปลี่ยนใหม่  เรียกว่า  วัดยานนาวา  ซึ่งเรียกกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้”

            ตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ว่า  เรือสำเภาคงสูญไป ก็เป็นการสมจริง  เพราะต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้ความตามเซอร์ยอนเบาริงกล่าวไว้ว่าในระหว่าง ๒๐ ปีล่วงมานี้  จำนวนเรือสำเภาที่ใช้ในการค้าลดจำนวนลงไปโดยลำดับ  เพราะต่อเรือตามแบบอย่างของชาวยุโรปมาใช้กันขึ้นบ้าง  ดังเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์  ที่บรรทุกของส่วยไปจำหน่ายเป็นสินค้า  ยังท่าเมืองในเกาะชวา  และมลายู  เมืองกวางตุ้ง  เอ้หมึง  เซียงไฮ้  และบางที ไปถึงอ่าวปีจีลีในทะเลเหลืองก็ใช้กำปั่นใบมีอยู่หลายลำ  รวมทั้งเรือค้าของข้าราชการผู้ใหญ่ด้วย ส่วนการค้าสำเภาและกาค้าชายฝั่ง  พวกจีนยังคงจัดทำอยู่  เซอร์ยอนเบาริงได้ทำนายไว้เหมือนกัน  ว่าต่อไปอีกไม่ช้าเพียง ๒ – ๓ ปี  เรือกำปั่นใบจะเข้าแทนเรือสำเภาในการค้าทางทะเลโดยเด็ดขาด  ความก็สมจริง  เรือสำเภาที่เหลืออยู่เป็นลำสุดท้าย  คือ  เรือสำเภาชื่อ  บ้วนเฮง  เป็นของพระยาพิศาลผลพาณิชย์ (จิ้นสือ  พิศาลบุตร)   และไปอับปางแตกลงกลางทะเลเมื่อราวปีมะโรง  สัมฤทธิ์ศก จุลศักราช ๑๒๕๐ (พ.ศ. ๒๔๑๗)

            “ถึงแม้การค้าทางทะเลจะได้เปลี่ยนเป็นเรือกำปั่นใบก็จริง  แต่เรือที่จะเข้าไปในเมืองท่าของประเทศจีน  ต้องเป็นเรือสำเภาจึงจะเข้าไปได้สะดวก  เพื่อแก้ความขัดข้องในข้อนี้  พวกเจ้าสัวซึ่งเป็นเจ้าของเรือกำปั่นใบที่ค้าขายกับประเทศจีน  เมื่อเรือจะถึงท่าเมือง  เช่น เมืองเทียนจิ๋น  ก็ต้องจัดให้มีขยาบไม้ไผ่ทำเป็นแผงเขียนเป็นตาเรือปะหัวเรือทั้งสองข้างขึ้นไว้ชั่วคราว ให้ดูประหนึ่งว่าเป็นเรือสำเภา  เจ้าหน้าที่จีนจึงยอมให้เข้าได้

            ภายหลังเห็นว่าเป็นความลำบาก  จึงต่อเรือชนิดพันทางหัวสำเภา  ท้ายเรือเป็นสำเภา  ท้ายเรือเป็นกำปั่น  เสาใบกลางเป็นเสาสำเภา  แต่ก็ลำบากอีก  จึงเสากลางเป็นเสาใบกำปั่น  เรือกำปั่นพันทางนี้เรียกว่า กำปั่นบ๊วย

            ๒. เรือแบบตะวันตก  ได้แก่ เรือกำปั่นแบบฝรั่ง  คำว่า  “กำปั่น”  ซึ่งหมายถึง เรือเดินทะเลแบบฝรั่ง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า  คำนี้คล้ายคำมลายู หรือฮินดูสตานี ที่เรียกเรือว่า Capel  เรือกำปั่นมีหลายแบบหลายชนิดแล้วแต่ฝรั่งเขาจะคิดต่อคิดสร้างขึ้น   ตามความประสงค์ที่จะใช้เรือนั้น ๆ ตามยุคสมัยมีการต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว  รูปลักษณะของกำปั่นที่ต่อไนเมืองไทยบางทีก็ต่อเหมือนกับเรือฝรั่ง  บางทีก็ต่อให้แปลกออกไปบ้างตามความประสงค์และความสะดวกที่จะใช้เรือนั้น ๆ เรียกว่า “กำปั่นแปลง”  หัวเรือเป็นปากปลา  แต่ท้ายเรือเป็นแบบกำปั่น (เพื่อจะทำเครื่องหางเสือของเรือให้เป็นอย่างแบบฝรั่งซึ่งสะดวกกว่าแบบจีน)  บางทีก็ต่อตัวเรือทั้งลำอย่างแบบกำปั่น  แต่เครื่องเสาเพลาใบใช้เรือตามขวางอย่างฝรั่ง  เรือที่ต่อตัวเรืออย่าง  แต่ใช้ใบอย่างกำปั่น  แต่ใช้ใบอย่างแบบจีนนี้  ฝรั่งเรียกว่า Lorcha  กำเนิดเดิมของเรือแบบนี้มีกล่าวว่า  ชาวโปรตุเกสเป็นผู้ต่อขึ้นที่เมืองจีนก่อน  เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  สำหรับใช้ปราบโจรสลัดทางบริเวณเมืองกวางตุ้ง  เรือ Lorcha  นี้  ไทยเราเรียกว่า  “เรือโป๊ะจ้าย”  เคยใช้เป็นเรือลำเลียงบรรทุกสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพฯ ไปส่งขึ้นเรือใหญ่ที่ท่าเรือเกาะสีชัง  ในสมัยที่ยังไม่มีการขุดสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา  ที่เรียกว่า  เรือโป๊ะจ้ายนี้  ในภาษาจีนหมายถึงว่าเป็นเรือลำเลียงอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า  Lighter  นั่นเอง  กับยังมีเรือลำเลียงอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “เรือเอี้ยมจุ๊น” นั้น  รูปร่างอ้วนใหญ่เพราะต้องการใช้บรรทุก ตัวเรือต่ออย่างแข็งแรง เรือนี้ในภาษาจีนแปลว่า               “เรือเกลือ” ทำให้เข้าใจว่าแต่ครั้งก่อน ๆ นั้น  เกลือก็เป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน  จึงต้องต่อเรือไว้สำหรับบรรทุกเกลือ  แต่ต่อมาในระยะหลัง ๆ มีสินค้าสำคัญหลายอย่างที่ส่งไปขาย  ก็เลยใช้เรือเอี้ยมจุ๊นบรรทุกสินค้าทั่ว ๆ ไป  สำหรับเอาไปส่งยังเรือใหญ่ที่จอดอยู่ในท่าเรือ

ลักษณะของเรือเอี้ยมจุ๊น

 

            เรือเดินทะเลขนาดย่อมที่เล็กกว่าเรือสำเภาและเรือกำปั่น  ซึ่งเคยใช้ในราชการทัพแต่ครั้งโบราณก็มีอยู่หลายแบบหลายชนิด  เรียกชื่อต่าง ๆ กัน  ควรจะได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้เสียด้วย  คือ 

            ๑.  เรือสำปั้นแปลง  เคยใช้ในการลาดตระเวนตรวจอ่าว  และใช้ในการปราบโจรสลัด  ซึ่งในครั้งโบราณเรียกว่า  “เรือไล่”  คำว่า  “สำปั้น”  นี้  ตามความหมายเดิมหมายถึง  เรือเล็กที่บรรทุกไปบนเรือสำเภาใหญ่  ฝรั่งเรียกว่า  Sampan เรือสำปั้นแปลงที่ต่อเป็นแบบใหม่ บางลำมีท้ายตัดเรียกว่า  “สำปั้นท้ายตัด”ในสมัยรัชกาลที่  ๓  ได้ใช้เรือสำปั้นแปลงขนาดใหญ่เป็นเรือรบด้วย  จึงได้เรียกเรือแบบนี้ว่า  “สำปั้นรบไล่สลัด”  เมื่อคราวเอดมันต์  โรเบิร์ต  ทูตสหรับอเมริกาเข้ามาทำสัญญาทางพระราชไมตรี  ทางราชการได้จัดเรือแบบนี้  ๒ ลำ  ไปรับทูตสหรัฐอเมริกาจากสันดอนเข้ามากรุงเทพฯ เรือแบบนี้มีเก๋งอยู่ตอนกลางลำเรือ  ใช้แจวและใบขับเคลื่อนเรือ

ลักษณะของเรือสำปั้นแปลง

 

            ๒.  เรือกำปั่นแปลง ได้เคยต่อมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัชกาล ที่๓  ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ผู้มีความชำนาญในการต่อเรือ เป็นผู้ริเริ่มต่อเรือกำปั่นแปลงสำหรับใช้เป็นเรือรบ  มีรูปลักษณะหัวเรือเป็นปากปลา  ท้ายเรือเป็นกำปั่น  ขนาดยาว ๑๑  วา  กว้าง  ๙ ศอก  ๑ คืบ  มีทั้งแจวและใบขับเคลื่อน  เรือแบบนี้บางทีเรียกว่า  “เรือรบอย่างนคร”  และจัดการต่อเรือพระที่นั่งแบบกำปั่นเป็นลำแรก  พระราชทานนามว่า  “เรืออมรแมนสวรรค์”  การต่อเรือลำนี้ต่อที่เมืองนครศรีธรรม  ต่ออย่างประณีตที่สุด  มีการสลักลวดลายและมีการเขียนลายรดน้ำ  โดยฝีมือของช่างเมืองนครศรีธรรมราช  เพราะเป็นช่างที่มีชื่อเสียงสำหรับงานประเภทนี้  ซึ่งใช้เวลาต่อถึง ๗ ปีจึงแล้วเสร็จ

 

            ๓.  เรือแบบญวน  โดยมากเรียกว่า  เรือเง่  หรือเรือแง่ มีรูปลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น เรือแง่โอ  เรือแง่ทราย  เรือแง่บัน  คำว่า  เง่  หรือ แง่  เป็นภาษญวนแปลว่า  เรือ  ที่เรียกว่า เรือตั้วเง  ก็คือ เรือญวนขนาดใหญ่  ส่วนเรือกุไลเข้าใจว่าเป็นเรือญวนขนาดย่อมและคงมีรูปลักษณะอย่างเรือ Ghe loui rung เป็นเรือเสาเดียวรูปเพรียวงาม

 

            ๔.  เรือฉลอมและเรือเป็ด  เป็นเรือที่พ่อค้าและชาวประมงตามหัวเมืองชายทะเลใช้กันมากมีหลายขนาดและหลายแบบ สำหรับบรรทุกสินค้าไปขาย  ถ้าเป็นเรือขนาดย่อมก็จะใช้ในการจับปลา  เรือเหล่านี้ในเวลาเกิดศึกสงครามก็คงจะต้องถูกเรียกเกณฑ์เอาไปใช้ในราชการทัพด้วยเหมือนกัน

 

   

                                                                                              ลักษณะของเรือฉลอม                                                 ลักษณะของเรือเป็ด

 

            ๕.  เรือแบบแขก  คงมีใช้ในราชการทัพครั้งโบราณเหมือนกัน  เพราะแขกทางปักษ์ใต้เคยเป็นเมืองขึ้นของไทย  สังเกตได้ว่าเรือแบบแขกมักจะทำหัวเรือท้ายเรือเป็นรูปหัวหางสัตว์  และทาสีให้เป็นลวดลายแปลก ๆ แบบแขก 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาเจษฎาราชเจ้า ได้โปรดให้สร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่อีก  ๒๔ ลำ  คือ 

            ๑.  เรือมงคลสุบรรณ (เรือกิ่ง) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเสริมรูปพระนารายณ์ให้ยืนบนหลังครุฑและทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า  “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ”

            ๒.  เรือศรีสุนทรไชย  (เรือกิ่ง)

            ๓.  เรือ (ไม่มีนาม) เป็นเรือเอกไชย

            ๔.  เรือสุวรรณเหรา  (เรือพระที่นั่งศรี)

            ๕.  เรือรัตนดิลก (เรือพระที่นั่งศรี)

            ๖.  เรือขจรกรุง  (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๗.  เรือรุ้งประสานสาย (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๘.  เรือชายลมหวน (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๙.  เรือกลีบสมุทร (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๐. เรือสุดสายตา (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๑. เรือประพาสแสงจันทร์ (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๒. เรือตะวันส่องแสง (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๓. เรือแท่งทองหล่อ (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๔. เรือล่อใจชื่น (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๕. เรือรื่นใจชม (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๖. เรือสมทรงสลวย (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๗. เรือ (ไม่มีนาม) (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๘. เรือราใน (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๑๙. เรือสุธาทิพย์ (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๒๐. เรือบัลลังก์ทอง (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๒๑. เรือบัลลังก์แก้ว (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๒๒. เรือบัลลังก์เงิน (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๒๓. เรือบรรทัดทอง (เรือพระที่นั่งกราบ)

            ๒๔. เรือกล้องสลัด (เรือพระที่นั่งกราบ)

 

            ในสมัยรัชกาลที่ ๓  การค้าทางทะเลมีน้อยกว่าในสมัยรัชกาลที่ ๒   โปรดให้สร้างเรือกำปั่นของไทยสำหรับการค้าทางทะเล  และมีเรือรบจำพวกเรือเดินทะเล  เพราะในขณะนั้นมีศึกสงครามรบกับญวน  จำเป็นต้องมีเรือรบไว้ใช้ในราชการมากขึ้น  เรือรบไทยได้เริ่มเปลี่ยนสภาพเป็น  เรือกำปั่นแบบฝรั่ง

 

            กำปั่นใบ  ที่ต่อในเมืองไทยแบ่งออกอย่างกว้าง ๆ เป็น ๓ ชนิด  คือ 

  1. เรือชนิดบริก (Brig) เป็นเรือ  ๒  เสา  ทั้งสองเสาใช้ใบตามขวาง  และมีใบใหญ่ที่กาฟ์ฟ อีกด้วย
  2. เรือชนิดบาร์ก (Bargue)  เป็นเรือ ๓  เสาหน้าและเสาใหญ่ใช้ใบตามขวาง เสาหลังใช้ใบตามยาว
  3. เรือชนิดสกูเนอร์  (Schooner)  เป็นเรือ ๒ เสา  แบ่งออกเป็น ๒ แบบ  คือ  เรือบรรทุกสินค้า  และแบบเรือยอชท์  สำหรับท่องเที่ยว

 

การให้ชื่อเรือกำปั่นใบของไทยนั้น  มีให้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ  เพื่อสะดวกแก่ชาวต่างประเทศ  ที่จะจดจำชื่อของเรือเวลาออกไปค้าขายยังต่างประเทศ  การให้ชื่อเรือกำปั่นใบของไทยมีกล่าวว่า  มิสเตอร์โรเบิตฮันเตอร์  พ่อค้าอังกฤษที่เข้ามาค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๓  เป็นผู้แนะนำในการให้ชื่อเรือแต่ละลำว่า  ควรให้ชื่อว่าอย่างไร  ห้างของมิสเตอร์โรเบิตฮันเตอร์นี้ เรียกว่า  Britishfactory  อยู่ทางฝั่งธนบุรี  ใกล้กับจวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์  ท่านผู้นี้ได้ช่วยเหลือทางราชการจึงมีความชอบได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิเศษพานิช 

 

ต่อมาข้าราชการผู้ใหญ่ และเจ้าภาษีนายอากร  ช่วยต่อเรือแบบนี้อีก ๓๐ ลำ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินช่วยในการต่อเรือลำละ  ๓๐  ชั่ง  นอกจากเรือต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว  ยังมีเรือรบและเรือราชการของไทยที่ได้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ดังนี้

๑.  เรือเทพโกสินทร  สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๔  เป็นเรือกำปั่นหลวงเคยออกไปค้าขายยังต่างประเทศ  เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔  ใช้เป็นเรือแม่ทัพหน้า  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  คราวยกกองทัพไปรบกับญวน

๒.  เรืออมรแมนสวรรค์  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕  เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้ต่อถวาย พ.ศ. ๒๓๘๒ ใช้เป็นเรือสำหรับพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี ผู้เป็นแม่ทัพเรือไปปราบพวกเจ้าแขก ที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้

๓.  เรือปักหลั่น

๔.  เรือมัจฉานุ

เรือปักหลั่น และเรือมัจฉานุ  ไม่ปรากฏว่าสร้างในปีใด  เป็นเรือใบขนาดใหญ่สำหรับบรรทุกทหารและเสบียงไปส่งกองทัพ  เรือทั้งสองลำนี้ใช้ในราชการทัพเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒  คราวปราบพวกเจ้าแขก  และเมือง พ.ศ.๒๓๘๔ คราวยกกองทัพไปรบกับญวน

๕.  เรือป้อมอย่างญวน  สร้างเมือง พ.ศ. ๒๓๗๗  เป็นเรือขนาดย่อม  เจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) เป็นผู้อำนวยการต่อ  โดยขอแรงข้าราชการ  เจ๊สัว  เจ้าภาษีนายอากร  ช่วยกันต่อรวมกันเป็นจำนวน  ๘๐  ลๆ  เอาไว้ที่กรุงเทพฯ ๔๐ ลำ เก็บไว้ที่คลองสารหงส์   อีก ๔๐ ลำ  จ่ายไปรักษาตามหัวเมืองพระราชทานเงินค่าต่อเรือลำละ  ๒๐ ชั่ง

๖.  เรือระบิลบัวแก้ว  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ – ๒๓๗๙  ที่จันทบุรี  เป็นเรือชนิดชิพ   ขนาด ๕๐๐  ตัน  เรือนี้ได้อับปางบริเวณเกาะไหลหลำ

๗. เรือวัฒนานาม สร้างเมืองพ.ศ.๒๓๗๙ เป็นเรือชนิดบริก ขนาด ๑๐๐ ตัน

๘.  เรือแกล้วกลางสมุทร  สร้างเมือง พ.ศ. ๒๓๗๘  ที่จันทบุรี  เป็นเรือกำปั่นใบลำแรกที่ต่อโดยคนไทย  คือ  หลวงนายสิทธิ์  (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  เมื่อคราวไปช่วยบิดาของท่านสร้างเมื่อใหม่ที่จันทบุรี เป็นเรือชนิดบริก  ขนาด ๑๑๐ ตัน  มีอาวุธปืนใหญ่  ๖ กระบอก  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒  ไปราชการทัพปราบเจ้าแขกที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้

๙.  เรือพุทธอำนาจ  สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๗๙  เป็นเรือชนิดบาร์กขนาด ๒๐๐ ตัน  มีอาวุธปืนใหญ่  ๑๐ กระบอก  เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔  ไปราชการทัพรบกับญวน  ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ  คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ยกกองทัพไปรบกับญวน  ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)

๑๐.  เรือราชฤทธิ์  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙  เป็นเรือแบบเดียวกันกับเรือพุทธอำนาจ  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔  ไปราชการทัพรบกับญวน

๑๑. เรือวิทยาคม  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ – ๒๓๘๐  พระอนุรักษ์โยธา  อำนวยการต่อที่จันทบุรี  เป็นเรือชนิดชิพ  ขนาด ๘๐๐  ตัน (บางแห่งว่า  ๑,๔๐๐ ตัน)  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔  ไปราชการทัพรบกับญวน  พ.ศ. ๒๓๙๔ และพ.ศ. ๒๓๙๕  ได้นำราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีน  จอดที่เมืองกวางตุ้ง  เรือลำนี้อับปาง  แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อใดและที่ใด

 

 ๑๒.  เรือจินดาดวงแก้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙  เป็นเรือชนิดบาร์ก  ขนาด ๔๐๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๒๒ กระบอก (ในพระราชพงศาวดารมีกล่าวว่า  ต่อแทนเรือระบิลบัวแก้วที่ไปแตกที่ไหหลำ  ทำให้เข้าใจว่าเรือระบิลบัวแก้วใช้ได้ไม่ถึงปีก็อับปาง) เมื่อพ.ศ. ๒๓๙๕ เรือนี้ได้นำสมณทูตไปลังกา และเลยไปค้าขายถึงเมืองบอมเบย์

๑๓.  เรือเนพจูน  เดิมชื่อ Caledonia  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐  ที่จันทบุรี  เป็นเรือชนิดชิพ  ขนาด ๗๘๐ ตัน  มีอาวุธปืนใหญ่ ๔๔ กระบอก  เรืออับปางเพราะไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗

๑๔.  เรืออุดมเดช สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๔ เป็นเรือชนิดบาร์ก ขนาด ๓๐๐ ตัน  เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ ไปราชการทัพรบกับญวน พ.ศ. ๒๓๘๗  ได้นำสมณทูตไปลังกา

๑๕.  เรือเวทชะงัด  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖  เป็นเรือชนิดสกูเนอร์  ขนาด ๒๐๐ ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ (กล่าวว่า เรืออุดมเดชและเรือเวชชะงัด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นผู้สร้าง เมื่อถุงพิราลัยแล้วก็คงโอนเรือ ๒ ลำนี้ ให้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)

๑๖.  เรือสยามพิภพ  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๐  เป็นเรือชนิดบาร์ก  ขนาด ๔๕๐ ตัน  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔  ได้นำราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีน  จอดที่เมืองกวางตุ้ง พ.ศ. ๒๓๙๕  ได้นำสมณทูตไปลังกา  หมื่นแกล้วสาคร  เป็นนายเรือ  และได้จัดมหาดเล็ก  ๒๐ นาย ไปฝึกการเดินเรือด้วย

 

จากที่ได้กล่าวมาแล้ว  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงเป็นนักการค้าที่ประสบความสำเร็จยิ่งในธุรกิจการค้า ได้มีความเจริญมั่งคั่ง  ไม่ใช่เฉพาะพระองค์  แต่ยังนำผลประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง  พระองค์ทรงเป็นพ่อค้าที่ลงทุนให้กับประชาชนของพระองค์  ลงทุนให้กับบ้านเมืองประเทศชาติ  โดยไม่หวังผลตอบแทน  เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า  ไม่ทรงคำนึงถึงส่วนพระองค์เลยนอกจากประชาชนและแผ่นดินไทย  ซึ่งคนไทยทุกคนควรร่วมใจกันเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระองค์ว่า ทรงเป็น พระบิดาแห่งการค้าไทย.

 

บรรณานุกรม

  1. กรมยุทธการทหารเรือ, ประวัติเรือรบไทย. โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, ๒๕๒๐
  2. ขุนวิจิตรามาตรา,ประวัติการค้าไทย. กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์, ๒๕๑๖.
  3. วัลย์วิภา  บุรุษรัตนพันธุ์ ม.ล. , การเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ , สถาบันไทยคลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๖
  4. วราภรณ์  จิวชัยศักดิ์ , นโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๔๗.
  5. แปลน  โมทิฟ, เรือ  วัฒนธรรมชาวน้ำลุ่มเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๕.