ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ

 

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง  จันทรางศุ

 

๏  เจษฎามหาราชเจ้า           เจิดกำจาย

บุญบ่มบารมิศหลาย             หลากเรื้อง

เพ็ญเพียบตรัสรู้ภาย             หน้าแน่

แน่วนิ่งพระหฤทัยกระเตื้อง     กระเถิบเข้าข่ายโพธิ

 

ปลายพุทธศก ๒๓๙๓ พ้นเทศกาลถวายผ้าพระกฐินมาได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอาการประชวรหนักขึ้นโดยลำดับ ต้องประทับอยู่แต่ในหมู่พระมหามณเฑียร ในวาระใกล้ถึงที่สุดแห่งพระชนมชีพ ได้มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท ด้วยมีความรำจวนพระราชหฤทัยถึงพระราชกิริยาที่ได้ทรงประพฤติมา เกลือกจะมีความพลั้งพลาดเป็นอคารวะแก่สมณบรรพษัทในพระศาสนา จึงโปรดให้เชิญพระราชนิพนธ์ทรงขอขมาพระสงฆ์ไปปิดประกาศไว้ที่ศาลายามค่ำ ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระราชาคณะ ถานานุกรมและบาเรียนได้ทราบตลอดไปในทุกรูปบรรดาที่ได้เคยเข้ามารับราชนิมนตนกิจทั้งปวงว่า

“…ขอให้พระเป็นเจ้าทุกองค์จงปลงอัธยาศัย ออมอดโทษถวายอภัยด้วยน้ำใจอันเต็มไปด้วยเมตตากรุณาเป็นบุเรจาริก อย่าให้เป็นเวรกรรมต่อไป ให้สิ้นพระราชวิปฏิสารรำคาญทั้งปวง…”

วาระเดียวกันนั้น ทรงขอว่า

“อนึ่ง ขอให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงกระทำสัตยาธิษฐานด้วยคุณพระศรีรัตนตรัยและจตุปาริสุทธศีลและสาสนานุสิกขากิจ ถวายพระราชกุสโลทิศแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้มีประชวรคลายหายพระโรค เป็นเกษมสุขสวัสดิ์ ให้ได้ทรงพระปฏิบัติบำเพ็ญพระกุศล เป็นพุทธการบารมี เพื่อพระโพธิญาณ สมควรแก่การที่ได้ทรงประสบพบพระพุทธศาสนาอันเป็นอดุลาดิศัยบุญเขตต์ นี้เทอญ”

นี้คือน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าที่ทรงครองแผ่นดินเป็นลำดับที่สามแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ นอกจากพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่เป็นหิตานุหิตประโยชน์เกื้อกูลแก่ฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรแล้ว กระแสพระราชปรารภตอนท้ายแห่งพระราชนิพนธ์ดังกล่าว ที่ทรงปรารถนา “เพื่อพระโพธิญาณ” ก็เป็นเรื่องที่ควรรู้และควรศึกษาเป็นพิเศษอย่างยิ่ง เพื่อที่เราชาวไทยในชั้นหลัง จะได้รู้จักพระมหาเจษฎาราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นั้น ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้นและเชื่อได้ว่าเป็นพระราชปรารภที่อยู่ในพระราชหฤทัยมั่นคงแม้จนวันสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

 

คติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

          สยามประเทศอันหมายถึงดินแดนที่ส่วนใหญ่เรียกว่าประเทศไทยอยู่ในเวลานี้มีรูปแบบประมุขของประเทศที่สืบเนื่องยาวนานมาหลายร้อยปี ได้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่แม้จะเปลี่ยนคำเรียกขานหรือมีรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัยหรือแต่ละพระองค์แตกต่างกันไป แต่ต้องถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความมั่นคงและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเคียงคู่กับความเป็นบ้านเมืองของเรามาโดยตลอด

          แต่ดั้งเดิมมา มีคำอธิบายเรื่องฐานะของพระมหากษัตริย์ ว่าทรงอยู่ในฐานะเป็นจอมคนทั้งหลายได้ด้วยเหตุผลใด จากความเชื่อในสองศาสนาสำคัญที่มีบทบาทอิทธิพลต่อประชาชนในภูมิภาคนี้ นั่นคือศาสนาพราหมณ์ฮินดูศาสนาหนึ่ง และพระพุทธศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทางทั้งสองศาสนานี้เป็นที่มาของวัฒนธรรมประเพณี ขนบธรรมเนียม ตลอดไปจนถึงรูปแบบการปกครองของไทยอย่างเห็นได้ชัด

          ตามคติความเชื่อฝ่ายศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่สามองค์ที่ทรงอานุภาพยิ่ง ได้แก่ พระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร เชื่อกันว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก พระนารายณ์เป็นผู้คุ้มครองรักษาโลก และพระอิศวรเป็นผู้ทำลายล้างโลกเพื่อขึ้นกัปใหม่ ผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์มิได้มีฐานะเป็นสามัญมนุษย์ หากแต่เป็นอวตารของพระผู้เป็นเจ้ามาบำรุงเลี้ยงประชากรและปราบยุคเข็ญ คือบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ตามความเชื่อฝ่ายนี้ เรื่องราวของพระนารายณ์ดูจะเป็นที่คุ้นเคยของคนจำนวนมากยิ่งกว่าพระผู้เป็นเจ้าองค์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองไทยแล้ว รามาวตาร ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ และเป็นเรื่องราวของฝ่ายธรรมะ คือพระรามที่ปราบฝ่ายอธรรม คือทศกัณฐ์จนพ่ายแพ้ เป็นเรื่องที่จับใจและรู้จักกันแพร่หลาย ถึงขนาดที่คำว่า “ราม” ได้ปรากฏในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนปัจจุบัน และนับถือกันทั่วไปว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย เป็นอวตารของพระผู้เป็นเจ้าตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ฮินดู เรียกความคิดตามแนวทางนี้โดยย่อว่า คติเทวราช

          ส่วนความคิดความเชื่อในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติและมีผู้นับถือเลื่อมใสเป็นจำนวนมากยิ่งกว่าศาสนาอื่นในเมืองไทย สั่งสอนผู้เป็นศาสนิกให้รู้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเป็นความทุกข์ ทางดับทุกข์ที่ถาวรยั่งยืนคือการได้ดวงตาเห็นธรรมจนเข้าสู่ภาวะที่ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป แม้สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา กว่าจะได้เสวยพระชาติสุดท้ายเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ต้องทรงเวียนว่ายมาแล้วหลายภพชาติ ปรากฏเรื่องราวเป็นชาดกพระชาติต่างๆ และเราเรียกฐานะในพระชาตินั้นๆว่าทรงเป็น”พระโพธิสัตว์” อันมีความหมายว่า ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาด้วยว่า สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราได้เคารพกราบไหว้อยู่ทุกวันนี้นั้น มิได้ทรงเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกและมิใช่พระองค์สุดท้ายของโลก ในอนาคตกาลข้างหน้ายังจะมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่โลกนี้อีก ดังจะเห็นได้จากคติความเชื่อในเรื่องพระศรีอาริยเมตไตร ที่เรียกกันโดยย่อว่า “ยุคพระศรีอาริย์” ก่อนถึงยุคพระศรีอาริย์ พระพุทธเจ้าในอนาคตกาลพระองค์นั้นคงเสวยพระชาติอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อทรงบำเพ็ญบารมีในฐานะพระโพธิสัตว์ เตรียมพระองค์ที่จะได้ตรัสรู้ธรรมในวันข้างหน้า

          ฐานความคิดเช่นนี้นำมาสู่ความเชื่อหรือคำอธิบายว่า พระมหากษัตริย์ของไทยมีฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ เสด็จอุบัติมาเพื่อบำเพ็ญบารมีโดยประการต่างๆ เป็นเสบียงสำหรับที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไป ร่องรอยของความเชื่อเช่นนี้ปรากฏอยู่ในประเพณีหลายอย่างที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น คำราชาศัพท์ ที่ผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาเรียกตัวเองว่า ข้าพระพุทธเจ้า ในขณะที่พระปรมาภิไธยอย่างย่อที่เรียกขานกันทั่วไปในราชสำนักเมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ก็เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือแม้แต่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ที่จะนำไปสู่ความเป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้าก็เรียกว่า โพธิสมภาร อันเชื่อมความคิดไปสู่ประเด็นเดียวกัน เพราะ โพธิ หมายถึงความตรัสรู้ ส่วน สมภาร หมายถึงการสั่งสมเสบียงสัมภาระ หรืออาจแปลว่า สิ่งที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้ รวมความหมายของคำว่า โพธิสมภาร หมายถึงเสบียงหรือสิ่งที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปสู่ความตรัสรู้ได้ในวันข้างหน้า

          เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ การปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์จึงต้องอยู่ในทำนองคลองธรรมของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นต้นทางของความคิดที่ว่านั้น เป็นต้นว่า ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และราชสังคหวัตถุ การปฏิบัติราชธรรมเหล่านี้เป็นเสมือนหลักประกันว่า พระมหากษัตริย์จะได้บรรลุพระโพธิญาณในวันข้างหน้า

          สมควรกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า สำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อมีความเข้าใจและมีความคิดความเชื่อเช่นนั้นแล้ว ในฐานะที่ตนเป็นสามัญชน ย่อมไม่อาจเอื้อมที่จะมีความหวังว่าจะได้ตรัสรู้ด้วยตนเองในอนาคต ในเวลาเมื่อบำเพ็ญกุศลจึงนิยมตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ได้เกิดมาอีกครั้งหนึ่งเป็นมนุษย์และได้พบกับพระศรีอาริย์ เพื่อจะได้สดับรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าในอนาคตพระองค์นั้นด้วยตัวเอง เพียงนี้ก็ถือเป็นโอกาสวาสนามหาศาลของปุถุชนแล้ว หลักฐานนี้ปรากฏอยู่ในคำจารึกตามตู้พระไตรปิฎกหรือบรรดาสิ่งของอุทิศในพระพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นในยุคสมัยต่างๆ ที่พบเห็นได้แม้จนทุกวันนี้

          กล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สำหรับประชาชนคนสามัญทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพราะต่างเข้าใจซึมทราบดีว่าฐานะและความคิดเช่นนั้นเป็นเรื่องพ้นวิสัย ผู้ที่จะคิดเช่นนั้นได้ย่อมมีแต่เพียงพระโพธิสัตว์คือพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระบรมโพธิสมภารเท่านั้น

 

พระราชปณิธานปรารถนาพระโพธิญาณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ดังที่กล่าวมาแล้วว่า สถานะของพระมหากษัตริย์ไทยตามคำอธิบายทางฝ่ายพระพุทธศาสนาเชื่อว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เสด็จเมื่ออุบัติเพื่อบำเพ็ญบารมีสำหรับจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้า แต่ความเชื่อเช่นว่านี้ก็ต้องประกอบเข้ากันกับพระราชอัธยาศัยและพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ รวมถึงความเป็นไปของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยด้วยว่า สามารถเกื้อกูลพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรให้เป็นไปเพื่อการสั่งสมบารมีสำหรับดำเนินไปสู่พระโพธิญาณได้โดยปราศจากเครื่องกีดขวางหรือไม่

          เพื่อความเข้าใจง่าย ลองนึกถึงข้อเท็จจริงว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะศึกสงคราม พระราชกรณียกิจในเรื่องการบุญการกุศลจะมีได้มากน้อยเพียงใดไม่มีใครในวันนี้รู้ได้ แต่น่าจะพออนุมานได้ว่าวันเวลาส่วนมากของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นต้องเป็นไปเพื่อภารกิจการศึกการสงครามและการทำนุบำรุงราชอาณาจักรให้เข้มแข็ง ถึงแม้จะทรงปรารถนาพระโพธิญาณเพียงใดหรือไม่อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงที่รบเร้าอยู่ทุกวันก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และอาจเป็นเครื่องตัดรอนการสั่งสมพระบรมโพธิสมภารได้พอสมควรเลยทีเดียว

          ครั้นมาพินิจดูวันเวลาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดูบ้าง จะพบว่าช่วงเวลาที่ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัตินั้นยาวนานถึงเกือบ ๒๗ ปี ถึงแม้จะมีการศึกสงครามบ้างแต่ก็ไม่ใช่สงครามประชิดติดพระนคร หากแต่เป็นศึกเวียงจันทน์บ้าง การรบพุ่งกับญวนในแผ่นดินกัมพูชาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรในครั้งนั้นบ้าง กรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้ตั้งเป็นราชธานีมาได้สี่สิบปีเศษ ถึงแม้จะยังอยู่ในฐานะที่ประมาทไม่ได้แต่บ้านเมืองก็มีความสงบร่มเย็นเป็นปึกแผ่นพอสมควร ฐานะทางเศรษฐกิจก็มีความมั่งคั่งมั่นคงจนพอวางใจได้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเองทรงพระปรีชาชาญฉลาดในสารพัดด้าน การที่จะทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการบุญการกุศลไม่มีอุปสรรคใดมากีดขวาง และใช่จะทรงมีพระราชศรัทธาในพระศาสนาแต่เฉพาะพระองค์เสียเมื่อไหร่ หากได้ทรงชักจูงแนะนำให้พระญาติพระวงศ์ ข้าราชการตลอดจนประชาชนทั่วไปให้โดยเสด็จในการพระราชกุศลด้วย จนมีคำกล่าวที่พูดกันมาแต่ครั้งนั้นว่า แผ่นดินรัชกาลที่หนึ่งนั้นใครเป็นนักรบก็โปรด ในรัชกาลที่สองใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด และในรัชกาลที่สามนี้ใครสร้างวัดก็โปรด

          เฉพาะส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมนัสศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง และจากหลักฐานที่ปรากฏในหลายแห่งสอดคล้องกัน ทำให้กล่าวได้ด้วยความเชื่อแน่ว่า ทรงมีพระราชหฤทัยปรารถนาพระโพธิญาณอย่างยิ่งยวด นอกจากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาทรงขมาพระสงฆ์ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วครั้งหนึ่งในตอนต้น อันได้ทรงปรารภถึง… “พระปฏิบัติบำเพ็ญพระกุศล เป็นพุทธการบารมี เพื่อพระโพธิญาณ…” แล้ว ยังมีหลักฐานที่เป็นพยานในเรื่องนี้อีกหลายที่ ล้วนมีข้อความยืนยันข้อเท็จจริงไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น

          ตัวอย่างเช่นจารึกเรื่องการสร้างพระสมุทรเจดีย์ ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๐ มีความสองตอนเกี่ยวพันกับประเด็นในเรื่องที่กำลังพูดถึงในที่นี้ กล่าวคือความตอนแรกที่แสดงพระราชปรารภเบื้องต้น ทรงแถลงว่า

          “…ทรงปรารถนาพระโพธิญาณสัทธาธิกบารมี พระหฤทัยหมายมุ่งบำรุงพระไตรรัตนทั้งสามเป็นอาจิณ พระราชกุศลสืบสร้างพระสมดึงษบารมี ทรงพระพิริยภาพเพียรพยายามตามประเพณีพระมหาโพธิสัตว์เจ้าแต่ปางก่อนสืบมา…”

และเมื่อกล่าวถึงการสร้างพระสมุทรเจดีย์โดยเฉพาะ มีความในจารึกอีกตอนหนึ่งว่า

          “…ซึ่งทรงพระราชสัทธาสถาปนาพระสมุทรเจดีย์ฐานการพระราชกุศลทั้งนี้ ใช่จะมีพระราชประสงค์สมบัติจักรพรรดิแลสมบัติเทพยุดาอินทร์พรหมหามิได้ ปลงพระทัยแต่จะให้สำเร็จแก่พระสรรเพชญโพธิญาณ จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากสงสารทุกข์…”

          ความในพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นในพระโพธิญาณนี้ น่าจะเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ดังเห็นร่องรอยได้จากสำนวนการจดเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่อาลักษณ์จดไว้ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๖ ว่า ในวันเกิดเหตุ

           “เพลา ๓ โมง ๕ บาท ทรงประเคนแล้วเสด็จขึ้น ระย้าแก้วแกว่งไกว พระโองการ…ให้ดูที่ปราสาท วัดพระแก้วเปนเหมือนกัน นางพระธรณีพระคงคา ทั้งท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ สุชาบดีเทวอมรโษมษรนุโมทนาทาร…ทรงสร้างพระไตรปิฎก…เปนนิจ บุญฤทธิ์สะท้านสุธาไหว จะพลันได้พระโพธิญาณ…”

          อีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเป็นหลักฐานยืนยันพระราชปณิธานปรารถนาในเรื่องนี้ เห็นได้จากประกาศในพระราชพิธีสะเดาะพระเคราะห์ เมื่อเสร็จศึกเวียงจันทน์ ในพุทธศักราช ๒๓๗๑ มีข้อความอยู่ในประกาศเทวดาในพระราชพิธีครั้งนั้นว่า

         “ ด้วยสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงปรารถนาพระบรมาภิเศกสมโพธิญาณ มีพระบรมราชสันดานมากไปด้วยพระมหากรุณา ทรงประฏิบัติในทศกุศลกรรมบถ ทศมิตรราชธรรมวัดตานุวัฏ จตุรงค์พิธสังคหวัตถุทั้ง ๔ ตั้งพระทัยที่จะบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนา…”

          หลักฐานเพียงนี้เห็นจะเพียงพอแล้วที่จะแสดงให้เราเห็นว่า พระราชปณิธานในเรื่องนี้ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชัดเจนและเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปในเมืองไทย   ครั้งนั้น

 

 

พระราชปฏิปทาส่วนพระองค์

          เมื่อทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นเช่นนั้นแล้ว พระโพธิญาณมิใช่สิ่งที่จะได้มาโดยง่าย พระราชจรรยานุวัตรทั้งปวงทุกคืนวันจึงเป็นไปเพื่อเป้าหมายนั้นเป็นสำคัญ ดังจะเห็นว่ารายละเอียดได้จากพระราชานุกิจคือกิจใหญ่น้อยที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำในแต่ละวัน ล้วนเป็นไปตามครรลองแห่งพระราชปณิธานทั้งสิ้น ปรากฏหลักฐานตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชอัธยาศัยไม่โปรดการเล่นหัว จึงทรงแก้ไขเวลาพระราชานุกิจให้เป็นไปในการพระราชกุศลและราชการแผ่นดินเป็นหลัก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการในแผ่นดินนั้นกล่าวเป็นยุติต้องกันว่าทรงประพฤติพระราชานุกิจโดยเวลาแน่นอนยิ่งนัก กล่าวคือ

          “เช้า ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร ทรงบาตรเสร็จ เสด็จขึ้นบูชาพระในหอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จลงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายพระองค์หญิงคอยเฝ้าอยู่ที่นั้น เสด็จผ่านไปยังหอพระธาตุมนเทียรที่ไว้พระบรมอัฐิ อยู่ด้านตะวันออกพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงบูชาพระบรมอัฐิ  ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวร ลักษณะเลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวรตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนรัชกาลที่ ๓ เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงศีล แล้วดํารัสถวายข้าวสงฆ์เป็นคําภาษามคธ พระสงฆ์รับสาธุ แล้วอปโลกน์ และ ถวายอนุโมทนาแล้วจึงฉัน ฉันแล้วถวายอดิเรก ถวายพระพรลา และในเวลาเลี้ยงพระนั้น เจ้านายฝ่ายหน้าเข้าช่วยปฏิบัติพระ ส่วนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปิดทองปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป บางทีก็ทรงปิดทอง หรือร้อยหูคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งทรงสร้าง

          พระกลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบทูลรายงานจ่ายเงินพระคลัง

          เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกตํารวจเข้าเฝ้ากราบทูลรายงาน ความฎีกาก่อนแล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้า เสด็จออกเวลาเช้านี้ประภาษเรื่องคดีความเป็นพื้น ถ้ามีราชการจรที่สลักสําคัญก็ประภาษด้วย ดังปรากฏ อยู่ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ

          เที่ยง เสด็จขึ้นประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสวยพระกระยาหาร

          บ่าย ๑ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระเฉลียงข้างด้านตะวันตก พวกนายช่าง มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ แต่ยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์เป็นต้น เข้าเฝ้าถวายแบบพระอารามต่างๆ

          ๒ นาฬิกา เสด็จขึ้น เข้าในที่พระบรรทม

         ๔ นาฬิกา เสด็จออกที่พระเฉลียงพระมหามนเทียร ด้านตะวันออก ทรงสําราญพระราชอิริยาบถ

          ค่ำ ๖ นาฬิกา เสวยแล้ว เสด็จลงท้องพระโรงใน ประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตรงช่องบันไดกลาง ผู้เป็นใหญ่ในราชการฝ่ายในขึ้นเฝ้า ดํารัสราชกิจฝ่ายใน

       ๗ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง เวลาพระเทศน์นั้น ข้างในออกฟังข้างในพระสูตร เทศน์จบข้างในกลับ

           เมื่อทรงธรรมจบแล้ว ชาวคลังในขวา ในซ้าย และคลังวิเศษ กราบถวายรายงานต่างๆ คือ พระอาการประชวรของเจ้านาย และอาการป่วยของข้าราชการผู้ใหญ่หรือพระราชาคณะ บรรดาซึ่งได้ดํารัสสั่งให้เอาอาการกราบทูล กับทั้งรายงานตรวจการก่อสร้างด้วย

           ๘ นาฬิกา เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการทั้งฝ่าย ทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน กราบบังคมทูลใบบอกหัวเมือง และ ทรงประภาษราชการแผ่นดิน จนเวลา ๑๐ นาฬิกา เสด็จขึ้นพระราชมนเทียร ถ้าหากเป็นเวลามีการสําคัญ เช่นมีศึกสงครามก็เสด็จขึ้นถึง เวลา ๑ นาฬิกา ๒ นาฬิกา”

          โปรดพินิจดูพระราชานุกิจในแต่ละวันดูเถิดว่า โน้มหนักไปในทางพระราชกุศลสักปานใด เริ่มตั้งแต่เวลาเช้าทุกวันทรงบาตรแล้วเสด็จขึ้นทรงนมัสการพระพุทธรูปสำคัญในหอพระสุราลัยพิมาน สายหน่อยใกล้เพลแล้ว เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทร์ทรงเลี้ยงพระฉันเวร โอกาสนี้ทรงศีล และมีพระราชดำรัสถวายข้าวพระสงฆ์เป็นภาษามคธด้วยพระองค์เอง ระหว่างเวลาที่เลี้ยงพระนั้น มิได้ทรงปล่อยให้เวลาว่างเปล่าไปผ่านโดยไร้ประโยชน์ หากแต่ได้ทรงปิดทองบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเก่าที่ชำรุดบ้าง ทรงปิดทองพระพุทธรูปที่สร้างใหม่บ้าง ทรงร้อยหูคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ทรงสร้างบ้าง สลับผลัดเปลี่ยนกันไปทุกวัน

          เวลาบ่ายโมงหลังเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว เสด็จออกให้ช่างต่างๆเข้าเฝ้าฯ ถวายแบบพระอารามและกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานความก้าวหน้าของการสร้างวัดวาอารามต่างๆตามพระราชดำริ

          เวลาค่ำทุ่มหนึ่ง เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ทรงธรรมจบแล้วจึงทรงว่าราชการอย่างอื่นต่อไป มีผู้ที่เล่าสืบกันมาด้วยว่าที่พระแท่นออกขุนนางในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนั้น ทอดพระพุทธรูปหรือพระไตรปิฎกที่ทรงสร้างใหม่สำหรับทรงปิดทองเฉลิมพระราชศรัทธาอยู่เป็นประจำ เมื่อเสด็จลงจากพระมหามณเฑียรเข้าสู่ท้องพระโรงแล้ว ทรงปิดทองดังที่ว่าเสียก่อน แล้วจึงทรงว่าราชการตามประเพณี กว่าจะเสด็จเข้าพระที่ก็เป็นเวลาดึกดื่นค่อนคืนแล้ว รุ่งเช้าตื่นพระบรรทมแล้ว พระราชานุกิจแรกคือทรงบาตร หมุนเวียนกันไปอย่างนี้ตลอดทุกปีทุกเดือนทุกวัน

          มีเกร็ดเรื่องหนึ่งที่จะเล่าเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนพระบาลีและพระสูตรต่างๆ โดยเต็มพระกำลัง ในพุทธศักราช ๒๓๗๐ แรกเสวยราชสมบัติได้เพียงสามปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพนักงานจัดทำบัญชีจำนวนพระภิกษุสามเณรที่ มีศรัทธาเล่าเรียนและสามารถสวดสาธยายมูลกัจจายนะสูตรจนขึ้นปากเจนใจได้ชำนิชำนาญ แบ่งเป็นผู้มีความเพียรอย่างเอกโทตรี แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระราชศรัทธาถวายไตรจีวรบริขาร ยิ่งไปกว่านั้น โปรดให้อาลักษณ์จดหมายรายงานจำนวนพระภิกษุสามเณรซึ่งได้ทรงถวายไทยทานเป็นรายเดือนรายปี ทูลเกล้าทูลกระหม่อม “ ถวายเป็นพระสมุดข้างพระที่ จะได้เป็นจารีตราชกุศลราศีสืบราชประเพณีพระมหากระษัตรอันถวัลราชสมบัดิ์ต่อไป”

          เห็นหรือไม่ว่า ข้างพระองค์มี “พระสมุดข้างพระที่” จดรายการพระราชกุศลไว้เพื่อเฉลิมพระราชศรัทธาทุกเวลานาที

          ถ้าเป็นสามัญชนก็อาจกล่าวว่า เป็นผู้นึกถึงแต่เรื่องการบุญการกุศลทุกลมหายใจเข้าออกนั้นเทียว

          อนึ่ง นอกจากพระราชานุกิจรายวันที่ทรงสดับพระธรรมเทศนาวันละหนึ่งกัณฑ์เป็นประจำแล้ว บางสมัยยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชกุศลจร อาราธนาพระเถระผู้ทรงคุณวิเศษมาถวายพระธรรมเทศนาในกัณฑ์พิเศษ เพื่อจะได้เป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่พระโพธิญาณในวันข้างหน้า ตัวอย่างเช่น คราวหนึ่งในพุทธศักราช ๒๓๗๗ มีหมายรับสั่งโปรดให้มีพระธรรมเทศนาโพธิปักขิยธรรมบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อันพระธรรมดังกล่าวเป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้ มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ พระธรรมเทศนาคราวนั้นแบ่งเป็นเก้าวัน รวม ๓๗ กัณฑ์ พระเถระที่ถวายพระธรรมเทศนามีตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระวันรัต เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเองทรงพระราชศรัทธาเสด็จออกสดับพระธรรมเทศนาตลอดทั้งเก้าวัน

           อาจสันนิษฐานได้ว่าโพธิปักขิยธรรมนี้เป็นหัวข้อธรรมะที่อยู่ในพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษ ดังที่พอจะเห็นพยานวัตถุสถานได้ที่หนึ่ง คือโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม ซึ่งเป็นเจดียสถานสำคัญที่เริ่มสร้างขึ้นในรัชกาลที่สาม พุทธศักราช ๒๓๙๓ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมที่มียอดใหญ่น้อยถึง ๓๗ ยอด อันหมายถึงโพธิปักขิยธรรมนี่เอง ยิ่งเมื่อรำลึกว่าวัดราชนัดดานี้ โปรดให้สร้างขึ้นพระราชทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (ต่อมาคือสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีในรัชกาลที่สี่) ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอที่ทรงพระเมตตายิ่ง ก็น่าเชื่อว่ารายละเอียดของการก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างในพระอารามนี้ จะได้ทรงเลือกเฟ้นแต่ของดีของวิเศษ และเป็นที่ชอบพอพระราชหฤทัยเป็นสำคัญมาตั้งแต่งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โพธิปักขิยธรรม” อันเป็นต้นทางที่จะทรงพระดำเนินไปสู่พระโพธิญาณก็ได้ปรากฏเป็นธรรมเจดีย์อยู่ในงานสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของพระอารามแห่งนี้ด้วย

 

พระราชปุจฉาเรื่องอากรค่าน้ำ

          ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทรงรับพระราชภาระในการปกครองทำนุบำรุงแผ่นดิน รายได้ของแผ่นดินซึ่งจำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบเพื่อใช้ในราชการมีที่มาจากหลายแหล่ง หนึ่งในจำนวนนั้นคือภาษีอากรต่างๆ แต่ไหนแต่ไรมามีอากรอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า “อากรค่าน้ำ” เป็นเงินส่วนที่ราชการเรียกเก็บจากผู้ประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำหรือทำการประมงต่างๆ และอากรอีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่าอากรสุรา เป็นเงินส่วนที่ราชการเรียกเก็บจากผู้ประกอบการค้าสุรายาเมาทั้งหลาย ทรงพระราชวิตกว่าเรื่องเหล่านี้จะเหมาะควรอย่างไร และเห็นจะทรงนึกถึงเรื่องพระโพธิญาณที่ทรงปรารถนาในพระราชหฤทัยอยู่ประกอบกันด้วย

          ในพุทธศักราช ๒๓๖๙ หลังจากทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาได้ราวสามปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชรำพึงว่า

          “...ทรงบำเพ็ญซึ่งศีลบารมีแลทานบารมีทั้งปวงนั้น ก็นับเนื่องเข้าในพระสมดึงษบารมีล้วนเปนปัจจัยแก่พระโพธิญาณบารมีทั้งสิ้น พระกระมลหฤทัยจะยังพระสมดึงษบารมีให้บริสุทธิ์ จึงทรงพระวิมุติสงไสยในอากรค่าน้ำและอากรสุรา เกรงจะเปนที่เศร้าหมองแห่งสัมมาอาชีวะ.. จึงมีพระราชโอวการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯให้...เชิญพระราชบริหารเป็นพระราชปุจฉา ออกไปเผดียงถามสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงว่า...อากรค่าน้ำอากรสุราจะมีโทษฤาหาโทษมิได้ประการใด…”

         สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระเถระทั้งปวง ถวายพระพรสนองพระราชปุจฉา ส่วนแรกว่าด้วยอากรค่าน้ำอากรสุรามีความโดยย่อว่า การที่ทรงเรียกเก็บอากรค่าน้ำค่าสุรา มิได้หมายความว่าทรงเห็นชอบด้วยกับการประกอบอาชีพเช่นนั้นและจะนับเนื่องเข้าถึงพระบวรราชสันดานหามิได้ บาปบุญคุณโทษเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้กระทำ การเก็บส่วยสาอากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัมมาอาชีวะหรือมิจฉาอาชีวะก็ดี มีมาแต่ครั้งโบราณกาล ประชาชนทั้งปวงย่อมกระทำค้าขายเลี้ยงชีวิตทั้งโดยวิสัยที่เป็นสัปบุรุษและอสัปบุรุษมาแต่เดิม ใช่จะพึ่งบังเกิดขึ้นแต่ครั้งตั้งพระมหานครมาจนตราบเท่ากาลทุกวันนี้เสียเมื่อไหร่ ในพระบาลีคัมภีร์ใดใดก็มิได้จำแนกว่าให้เรียกเก็บภาษีแต่เฉพาะจากการเลี้ยงชีพที่เป็นสัมมาอาชีวะ ข้างฝ่ายที่เป็นมิจฉาอาชีวะแล้วห้ามไม่ให้เรียกภาษีขึ้นยังท้องพระคลัง

          “…อาตมภาพทั้งปวงจึงพิจารณาเห็นว่าอากรน้ำแลอากรสุรานี้ จะมิได้เกี่ยวข้องมัวหมองในพระเจ้าแผ่นดิน เหตุหาพระกระมลเจตนาบมิได้”

          กล่าวเฉพาะเรื่องอากรค่าน้ำซึ่งอาจมีผู้มองเห็นว่าพัวพันอยู่กับเรื่องศีลปาณาติบาต แม้พระเถระจะได้ถวายพระพรวิสัชนาเช่นว่านั้นแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังใส่พระราชหฤทัยเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในเวลานั้นทางราชการได้จำนวนเงินค่าน้ำที่นายอากรเก็บได้และนำส่งเข้าท้องพระคลังปีหนึ่งถึง ๗๐๐ ชั่งเศษ แต่ก็ไม่ได้ทรงอาลัยในผลประโยชน์จำนวนนี้ โปรดให้ยกเลิกอากรค่าน้ำสองคราว คราวแรกห้ามมิให้ใช้วิธีปิดทางเดินของน้ำเพื่อจับปลา คงให้นายอากรเก็บค่าน้ำต่อไปแต่เฉพาะพิกัดตามเครื่องมือจับปลาอย่างเดียว รายได้ก็ลดลงปีหนึ่งถึง ๓๐๐ ชั่ง ต่อมาอีกไม่นานได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกอากรค่าน้ำที่เคยเป็นเงินได้เหลืออยู่เพียงปีละ ๔๐๐ ชั่งนั้นเสียเลยทีเดียว เพราะในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีการเก็บภาษีอากรรายใหม่หลายอย่างเพื่อมาจับจ่ายใช้ในราชการแผ่นดิน ได้เงินภาษีอากรรายใหม่มากกว่าอากรค่าน้ำที่เคยได้มาแต่เดิม ไม่ขาดจำนวนพระราชทรัพย์ในท้องพระคลัง เป็นอันว่ารายได้แผ่นดินเวลานั้นไม่ข้องเกี่ยวกับการปาณาติบาตอีกต่อไป

           ตำนานเรื่องอากรค่าน้ำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นในพระโพธิญาณ ขณะเดียวกันก็ไม่ทรงทอดทิ้งพระราชภาระในฐานะพระเจ้าแผ่นดินที่ต้องดูแลทำนุบำรุงประเทศไปพร้อมกันด้วย พระบรมราโชบายเกี่ยวกับเรื่องค่าน้ำจึงเป็นไปตามลำดับขั้นตอน มิได้หักหาญยกเลิกเสียในคราวเดียว หากแต่ต้องทรงผันผ่อนหาลู่ทางให้ท้องพระคลังมีรายได้จากทางอื่นแทนอากรค่าน้ำเสียก่อน แล้วจึงถึงเวลาที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยตามพระราชปรารภปรารถนาในทางบุญ ที่อาจจะยังทรงเคลือบแคลงอยู่ในพระราชหฤทัยก็เป็นได้

 

 

วันหนึ่งจะเสด็จถึงที่หมาย

          เป็นที่เชื่อได้ว่า ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเองย่อมทรงทราบดีแก่พระราชหฤทัยว่า พระราชปรารถนาที่จะได้พระโพธิญาณนั้น ยังไม่มีหนทางสำเร็จได้ในพระชาติปัจจุบันที่ต้องทรงรับภาระของแผ่นดินอยู่ในเวลานั้นเป็นแน่ การได้ตรัสรู้พระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคตเป็นเรื่องของวันข้างหน้าที่จะมาถึงเมื่อใดไม่อาจมีใครบอกได้ ระหว่างนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าความมุ่งมั่นที่จะบำเพ็ญพระราชกุศลนานัปการให้ได้เป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่พระโพธิญาณ ดังปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการพระศาสนามากมายมหาศาล ทั้งที่เป็นเรื่องของศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ศาสนศึกษา ศาสนปฏิบัติ และศาสนบุคคล ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปและยังส่งผลยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

         ในพุทธศักราช ๒๓๗๗ กรมหลวงนรินทรเทวี พระกนิษฐภคินี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้สถิตอยู่ในฐานะพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในรัชกาลที่สาม ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุส่วนพระองค์ซึ่งมีการจัดพิมพ์แล้วในเวลานี้ชื่อ จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี ทรงเล่าเหตุการณ์ที่ได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสองช้าง ว่าในระหว่างงานสมโภชช้างเผือกคราวนั้น

         “… สำแดงพระบารมีลงมาให้เห็นประจักษ์ ที่แผ่นดินไหวถึง ๒ ครั้งเป็นอัศจรรย์ เทพยุดารักษาพระศาสนา จึงสำแดงให้ประจักษ์ตาโลกทั้งปวงว่าแต่สร้างพระบารมีเกือบสำเร็จพระโพธิญาณ แต่พระเนตรยังไม่ฌานสรรพัญญูเป็นพุทธคุณชิโนรส ในอนาคตภายภาคหน้า เมื่อพระศาสนาพระเมตไตรย ลำดับใน ๑๐ พระพุทธชิโนวงศ์บรมโพธิสัตว์ มิได้คลาดบรมบาทบพิตร สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์จักรพินทรงธรรมเที่ยง ชุบเลี้ยงพระญาติวงศานุวงศ์กษัตริย์ดังฉัตรแก้วกั้นทวีป บรมโพธิเดียวแท้ประชุมพึ่ง จนถึงสำเร็จพระโพธิญาณ…”

        กล่าวเป็นถ้อยคำสามัญปัจจุบันอาจพอสรุปความได้ว่า เหตุที่ทรงได้ช้างเผือกถึงสองช้างและเกิดแผ่นดินไหวสองครั้ง เพราะเทวดาได้แสดงนิมิตให้เห็นว่าพระบารมีเกือบใกล้จะสำเร็จพระโพธิญาณแล้ว แต่พระเนตรยังไม่สอดส่องได้ดวงตาเห็นธรรมตรัสรู้ในเวลานี้ ในอนาคตเมื่อถึงยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นลำดับที่ ๑๐ ในพุทธวงศ์ เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงดำรงอยู่ในธรรมะและทรงชุบเลี้ยงพระญาติพระวงศ์เหมือนฉัตรแก้วกั้นทวีป จะได้ทรงสำเร็จพระโพธิญาณเป็นแน่แท้

         ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่ายุคพระศรีอาริยเมตไตรจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่ในระหว่างนี้ เมื่อใดก็ตามที่ได้ไปกราบถวายราชสักการะพระบรมราชาอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เมื่อกราบถวายบังคมพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐแล้ว เหลียวมองไปทางซ้ายมือ จะแลเห็นโลหะปราสาทมียอดสีทองเปล่งประกายระยิบระยับงดงามสลับสลอนขึ้นเสียดฟ้านับจำนวนได้ถึง ๓๗ ยอด เท่าจำนวนโพธิปักขิยธรรม อันเป็นหัวข้อธรรมที่ “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว”แผ่นดินที่สามมีพระกระมลเลื่อมใสยึดมั่นมาตลอดพระ ชนมชีพ

          ด้วยพระราชกุศลโพธิสมภารบารมีที่ได้ทรงสั่งสมมาแล้วในอดีตและที่จะได้ทรงสั่งสมเพิ่มพูนขึ้นอีกในอนาคต เชื่อได้แน่ว่าสักวันหนึ่งจะได้เสด็จไปถึงที่หมายที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยปรารถนาอย่างแน่นอน และเป็นที่หวังว่าวันนั้น ชาวเราจะมีวาสนาได้พ้องพบพระศรีอาริยเมตไตรพระองค์นั้น และได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์โดยพร้อมหน้าด้วยกันเถิด เจ้าพระคุณ!