ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




พระราชประวัติ ร.3

พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

               พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เป็นพระราชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าจอมมารดาเรียม (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 ณ พระราชวังเดิม กรงธนบุรี

                                                                

      พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2                 สมเด็จพระศรีสุลาลัย

 

                ขณะนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถยังดำรงพระยศทางขัตติยราชสกุลเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ 
เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชมารดาเป็นสามัญชน ดำรงฐานะเป็นสะใภ้หลวงที่หม่อมเรียม ดังนั้นเมื่อประสูติพระองค์จึงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็น "หม่อมเจ้าทับ" ต่อมาถึง พุทธศักราช  2349 สมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์จึงได้ดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็น "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทับ" ตามประเพณี

            เมื่อพระชนมพรรษาครบปีที่จะทรงผนวช     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช    สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช     โปรดเกล้าฯ    ให้ทรงผนวช  ณ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วได้เสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่

               พุทธศักราช 2356 เมื่อพระชนมพรรษา 26 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้น ทรงกรม ทรงพระนามว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์"  สมเด็จพระรมชนกนาถทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาก  โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า  กรมพระคลังมหาสมบัติ  กรมพระตำรวจ  ว่าความฎีกา  ซึ่งเป็นราชการที่สำคัญมากในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย

           พระองค์ทรงรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถด้วยความจงรักภักดี มีความหวังดีต่อบ้านเมืองและเมตตาต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ในยามที่เงินแผ่นดินขาดแคลน พระองค์ได้นำเงินส่่วนพระองค์ที่ได้จากการค้าสำเภากับนานาประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงยกย่องตรัสล้อเรียกว่า "เจ้าสัว" นอกจากนี้ ยังทรงตั้งโรงทานเลี้ยงดูประชาชนที่อัตคัดขัดสน ที่บริเวณหน้าวังท่าพระอันเป็นที่ประทับขณะนั้นด้วย

             พ.ศ. 2367  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตโดยที่ยังมิได้ตรัสมอบหมายการสืบราชสันตติวงศ์  บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ประชุมปรึกษากันและมีสมานฉันท์เป็น "อเนกมหาชนนิกร สโมสรสมมุติ"  ให้เชิญเสด็จ  พระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลำดับที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อมา ตั้งแต่วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช  2367 พระสุพรรณบัฎที่เฉลิมพระปรมาภิไธย  ซึ่งทูลเกล้าฯ  ถวายในวันทรงรับพระบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2367 ก็ยังคงใช้พระปรมาภิไธยเช่นเดียวกับรัชการลที่ 1 และที่ 2 โดยราษฎรทั่วไปไม่ออกพระนามพระมหากษัตริย์  แต่เรียกว่า  "พระพุทธเจ้าอยู่หัว"

                ต่อมาเมื่อพุทธศักราช  2394  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4  จึงทรงทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎถวายพระปรมภิไธยใหม่ว่า  "พระบาทสมเด็จพระปรมาทิวรเสฎฐ  มหาเจษฎาบดินทร์  สยามมินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"

        ต่อมาพุทธศักราช 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ถวายพระนามใหม่เป็น "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทร มหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" พระปรมภิไธยอย่างย่อคือ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" อักษรพระปรมาภิไธยย่อ คือ "จปร." หมายถึง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ มหาเจษฎาบดินทร์ บรมราชาธิราช"

               เมื่อพุทธศักราช  2538  มีพระราชาคณะจาก  15  วัด  ได้มีลิขิตเสนอให้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ว่า  "ธรรมิกมหาราช"  ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็น 3  แบบ  คือ  "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" , "พระมหาเจษฎาราชเจ้า"  และ  "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า"  อันมีความหมายว่า  "พระมหาราชเจ้าผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกิจ"

                  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก เมื่อวันพุธที่  2  เมษายน  พุทธศักราช  2394 สิริรวมพระชนมพรรษา 63 พรรษา 2 วัน เวลาที่ครองราชย์ 26 ปี 8 เดือน 12 วัน

             ทรงมีพระราชโอรส 22 พระองค์ พระราชธิดา 29 พระองค์ รวม 51 พระองค์ จากเจ้าจอมมารดา 35 ท่าน ในจำนวนนี้ประสูติก่อนบรมราชาภิเษก  38  พระองค์  และเมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว 13 พระองค์ มิได้ทรงสถาปนาเจ้าจอมท่านใดเป็นพระมเหสี  พระราชโอรสพระราชธิดา  จึงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็น "พระองค์เจ้า" มีสายราชสกุลที่สืบเนื่องมา 13 มหาสาขา ได้แก่ ศิริวงศ์ โกเมน คเนจร งอนรถ ลดาวัลย์ ชุมสาย ปิยากร อุไรพงศ์ อรณพ ลำยอง สุบรรณ สิงหรา ชมพูนุท

                พระราชดำรัสสุดท้ายเมื่อก่อนเสด็จสวรรคต ที่ทำให้คนไทยในยุคสืบต่อมาสมควรต้องระลึกถึงไตร่ตรองเสมอเกี่ยวกับบ้านเมือง แม้เวลาจะล่วงแล้ว 153 ปีก็คือ
 

"การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว
จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้
การงานสิ่งใดของเขาที่คิดไว้ ควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขา
แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว"


พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ และ สายไหม จบกลศึก เรียบเรียง

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว