ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




พระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง

          ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการเมือง การปกครอง ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในทุกด้านมาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติก็ได้ทรงกำกับราชการด้วยความเอาพระทัยใส่อย่างยิ่งและสม่ำเสมอ ทรงควบคุมดูแลตรวจราราชการงานเมืองอย่างใกล้ชิดจริงจัง ทรงวินิจฉัยข้อราชกรและตัดสินด้วยพระองค์เอง โปรดให้ข้าราชการหรือผู้ใหญ่ถวายข้อราชการทุกวัน ๆ ละสองเวลา ถ้าเป็นราชการสำคัญหรือเร่งด่วนก็จะทรงว่าราชการเกือบตลอดทั้งคืนก็มี ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร ได้ทรงตรากฎหมายที่ใช้ปราบโจรผู้ร้ายและผู้หากินโดยมิชอบ เช่น ทรงตราพระราชกำหนดโจรห้าเส้นใน พ.ศ. 2380 นอกจากนี้ยังโปรดให้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีไว้ให้ราษฎรที่มีทุกข์ร้อนมาตีร้องฎีกา และโปรดให้มีกรสอบสวนตามคำร้องทุกข์ด้วย อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงพระปรีชาญาณในทางการปกครองทรงมองการณ์ไกลและตระหนักถึงภัยทางสังคมอันร้ายแรงของฝิ่น ซึ่งเป็นบ่อนทำลายทั้งสุขภาพและศีลธรรมอันดีของอาณาประชาราษฎร์ อีกทั้งชาติตะวันตกเคยใช้ฝิ่นเป็นเครื่องมือในการทำลายความมั่นคงของประเทศจีนมาแล้ว โปรดให้ปราบปรามฝิ่นอย่างเด็ดขาดและจริงจังตลอดรัชกาล ทรงยอมสูญเสียรายได้จากภาษีฝิ่น ในคราวหนึ่งถึงกับโปรดให้เผาฝิ่นที่จับได้หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นจำนวนมาก แล้วนำกลักฝิ่นไปหล่อพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่ศาลาการเปรียญในวัดสุทัศน์เทพวราราม

          ในการบำรุงสุขแก่ราษฎรนั้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีการคมนาคมขนส่งทางน้ำมาก ฉะนั้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ราษฎร ในการทำนาทำสวนและล่องเรือติดต่อค้าขายรวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการยุทธหากเกิดศึกสงคราม จึงโปรดให้ขุดคลองขึ้นหลายสายที่สำคัญ ได้แก่ คลองสุนัขหอนในแขวงจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงครามตรงที่ตื้นเขิน ขุดลอก เมื่อ พ.ศ. 2371 คลองบางบอนขุดใน พ.ศ. 2374 และคลองบางขนากขุดในพ.ศ. 2380 – 2381

                เพื่อความสะดวกในการปกครองประเทศ ได้โปรดให้ตั้งบ้านเป็นเมือง 25 เมือง เป็นเมืองที่ตั้งขึ้นในท้องที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ 19 เมือง และทางตะวันออกเฉียงใต้ 6 เมือง เช่น ตั้งบ้านหนองคายเป็นเมืองหนองคาย บ้านภูเวียงเป็นเมืองภูเวียง บ้านแซงบาดาลเป็นเมืองแซงบาดาล ตั้งด่านหนุมานเป็นเมืองกบินทร์บุรี ตั้งบ้านทุ่งเขยกเป็นเมืองวัฒนานคร เป็นต้น

           พระราชกรณียกิจซึ่งแสดงให้เห็นชัดถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณที่ทรงเห็นการณ์ไกล ได้ทรงวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองรอบๆ ประเทศไทยและของโลกในขณะนั้นได้อย่างถูกต้อง และได้ทรงตัดสินพระทัยทางการเมืองอย่างเหมาะสมกับเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์ เช่น พระราชวินิจฉัยว่า ภัยสงครามกับพม่านั้นต่อไปคงไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะพม่าเกิดความไม่สงบภายในและติดทำสงครามกับอังกฤษ แต่ภัยที่ต้องระวังคือภัยจากเพื่อนบ้านทางตะวันออกหมายถึง ญวนซึ่งพยายามแทรกแซงดินแดนที่เป็นของไทย คือ ลาวและเขมร พระองค์จึงได้ทรงทุ่มเทกำลังพลและกำลังทรัยพ์ทำศึกกับญวนไม่ต่ำกว่า 14 ปี ในครั้งนี้การรบได้ยุติลงโดยไทยเป็นมีชัยชนะ ได้เขมรส่วนนอก 34 เมือง กลับคืนมาเป็นของไทย นอกจากนี้ยังได้ทรงปราบปรามทั้งเมืองลาว หัวเมืองปักษ์ใต้ และหัวเมืองทางตะวันตกอย่างราบคาบ อาจกล่าวได้ว่าตลอดรัชกาลนี้บ้านเมืองยังมีสงครามยืดเยื้อเป็นภาระอันหนักยิ่งที่ต้องผจญติดต่อกันเป็นเวลานาน และในระหว่างทำศึกสงครามได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย และแนวทางในการแก้ปัญหาแก่แม่ทัพนายกองอย่างทรงพระปรีชายิ่ง

          ในการป้องกันข้าศึกที่จะมารุกรานทางทะเล โปรดให้สร้างป้อมเพิ่มเติมที่เมืองสมุทรปราการ จันทบุรี และสมุทรสงครามอีกหลายป้อม เช่น ป้อมตรีเพ็ชร์ ป้อมไพรีพินาศ ป้อมพิฆาตปัจจามิตร ป้อมคงกะพัน ป้อมพิฆาตข้าศึก และป้อมเสือซ่อนเล็บ กับสร้างเมืองหน้าศึกเป็นเมืองที่มีป้อมปราการ 3 เมือง คือ สร้างป้อมปราการเมืองกาญจนบุรี ที่ตำบลปากแพรก ป้อมปราการเมืองจันทบุรี ที่ตำบลเนินวง ป้อมปราการเมืองสงขลา ที่ตำบลบ่อยาง โปรดให้ต่อเรือรบไว้ใช้ในราชการจำนวนมาก

 

พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ และ สายไหม จบกลศึก เรียบเรียง