พระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์ ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงได้รับราชการหลายด้าน ศาสตราจารย์ วอลเตอร์ เอฟ เวลลา ผู้ประพันธ์หนังสือ "แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ" ซึ่ง นิจ ทองโสภิต แปล ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "บรรดาชาวยุโรปที่มาสู่สยามต่างลงความเห็นพ้องต้องกันว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นี้ ทรงมีอำนาจเข้าควบคุมกิจการสำคุญ ๆ ของกรุงสยามไว้ทั้งสิ้น นักสังเกตการณ์ชาวยุโรปผู้หนึ่งได้กล่าวถึงพระองค์ไว้ว่า กรณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความสงบสุขของประชาราฎร์และบ้านเมืองก็ดี หรือที่เกี่ยวกับการศึกสงครามก็ตาม ตลอดจนกรณีที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ การตราพระราชกำหนด การพระศาสนา การวางนโยบายปกครองบ้านเมืองและประชาราษฎร์ การศาลสถิตยุธิธรรม พระองค์เป็นผู้ควบคุมดำเนินการทั้งหมด" สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากโปรดให้กำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา ซึ่งเป็นส่วนราชการที่สำคัญมากในสมัยนั้น นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย ในด้านเศรษฐกิจของชาติ กรมหมื่นเจษฎบดินทร์ ทรงพระปรีชาสามารถในการพาณิชย์อย่างยิ่ง ทรงจัดสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการค้ากับต่างประเทศสูงมาก อีกทั้งยังริเริ่มตั้งระบบเก็บภาษีแบบเจ้าภาษีนายอากร คือมีตัวแทนเก็บภาษีเข้าสู่ท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก ในรัชกาลพระบรมสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นสมัยที่มีการสร้างสรรค์และฟื้นฟูวรรณคดี โดยเฉพาะการละครรุ่งเรืองมาก พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แม้จะทรงมีภารกิจต่างๆ มากอยู่แล้ว ก็ทรงมีบทบาทสำคัญอยู่ในวงกวีแห่งราชสำนักด้วย ได้ทรงร่วมนิพนธ์วรรณกรรมสำคัญ ๆ เช่น บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ อิเหนา และสังทอง บางตอนด้วย ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างป้อมปราการตามหัวเมืองชายทะเล เพื่อป้องกันภัยทางทะเล ในปี พ.ศ. 2362 มีข่าวว่า ญวนจะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นแม่กองสร้างเมืองสมุทรปราการให้มีป้อมปราการต่างๆ เพื่อป้องกันประเทศทางฝั่งตะวันออกหลายป้อม เช่น ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการและป้อมกายสิทธิ์ และป้อมที่เกาะหน้าเมืองด้านตะวันตก คือป้อมผีเสื้อสมุทร และป้อมนาคราช หนังสือ "แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ (Siam Under Rama III)" หนังสือเรื่อง Siam Under Rama III นับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญอันหนึ่ง
พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ และ สายไหม จบกลศึก เรียบเรียง |