ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




ด้านศิลปกรรม

          ทรงทำนุบำรุงวัดมากกว่า 30 วัด ล้วนงดงามเป็นศรีสง่าแก่พระนครสามารถอวดชาวโลกได้จนถึงปัจจุบัน งานศิลปกรรมในรัชกาลนี้เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่มีลักษณะพิเศษ เป็นการพัฒนาต่อจากศิลปกรรมไทยดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ยังคงรักษาโครงสร้างและหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ไว้อย่างเคร่งครัดด้วยการผสมผสานศิลปะไทยและจีนโดยไม่ขัดเขิน เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าและงดงามอย่างน่าชม ได้ทรงซ่อมแซมและสร้างปราสาทราชฐานในพระบรมมหาราชวังหลายองค์ ให้คงความงดงามเฉลิมพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันพระบรมมหาราชวังของประเทศไทยแห่งนี้มีชื่อเสียงก้องไปทั่วโลกในความงามของศิลปะแบบไทย เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาชมเป็นขวัญตา จึงกล่าวได้ว่าศิลปกรรมในรัชกาลนี้เป็นศิลปะเพื่อการพระศาสนาเกือบทั้งหมด

          ทางด้านสถาปัตยกรรม ได้มีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมาก ทั้งโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอระฆัง พระเจดีย์ พระปรางค์ การสร้างโบสถ์ได้เปลี่ยนแปลงส่วนหลังคาโดยตัดส่วนซึ่งแบบบางหักผุเสียหายง่าย อันได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ออก เปลี่ยนเป็นการก่ออิฐฉาบปูนหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจานชามจีนแทนลวดลายปูนปั้น ที่เห็นได้ชัดคือ วัดราชโอรสาราม หลังคาพระวิหารปั้นรูปมังกรล่อแก้วหันเข้าหากันติดอยู่เหนือสันหลังคากุฏิสงฆ์สร้างเป็นตึกแทนเครื่องไม้ ซุ้มประตูหน้าต่างเปลี่ยนจากซุ้มบันแถลงมาเป็นการใช้ปูนปั้นประดับติดกับผนังโดยไม่มีซุ้ม แต่ยังคงลักษณะของทรงซุ้มไว้โดยใช้ลายปูนปั้นประดับแทน ที่ฐานประตูนิยมใช้เครื่องถ้วยชามจีนประดับเป็นดอกไม้ การสร้างพระเจดีย์ใช้กระเบื้องเคลือบแบบจีน เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม มีช่างจีนมาสอนทำกระเบื้องเคลือบในประเทศไทยและทำได้สีสวยสดใส

ซุ้มประตูวัดโพธิ์ : ใช้เครื่องถ้วยชามจีนมาประดับเป็นดอกไม้

          ทางด้านจิตรกรรม เนื่องจากได้มีช่างจีนมาร่วมในการจัดทำ จิตรกรรมฝาผนังจึงมีแบบจีนมาผสม เช่น ประตูพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระราชวังบวรสถานมงคล (พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) มีลายต้นไม้ ดอกไม้ นก แมลง แล้วยังมีกิเลน ซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีจีนรวมอยู่ด้วย ภาพจิตรกรรมฝาผนังบางแห่งมีการเขียนแบบสอดเส้นสีทอง ซึ่งเป็นแบบที่ดัดแปลงมาจากจิตรกรรมของจีน บางแห่งมีการเขียนลายตกแต่งเสา

          ทางด้านประติมากรรม ได้โปรดสร้างพระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระนอนขนาดใหญ่มาก กับหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ 2 องค์ ปางห้ามสมุทรหุ้มทองทั้งองค์ ทรงเครื่องยศอย่างพระมหาจักรพรรดิประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอัยกาธิราช และพระราชบิดา ถวายพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย” ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้แปลงสร้อยพระนามใหม่เป็น นภาลัย” กับโปรดให้ประชาชนเรียกพระนามรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ตามพระนามของพระพุทธรูป

          เดิมประชาชนเรียกรัชกาลที่ 1 ว่า “แผ่นดินต้น” เรียกรัชกาลที่ 2 “แผ่นดินกลาง” จึงทรงเกรงว่าแผ่นดินพระองค์จะเป็นแผ่นดินปลายอันเป็นอัปมงคลไป เมื่อสร้างพระพุทธรูปแล้วโปรดให้เรียกสองรัชกาลแรกตามพระนามพระพุทธรูป พระนามของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 จึงมีคำว่า “พระพุทธ” อยู่ด้วย

          การสร้างวัดของพระองค์มีหลายวัดที่มีสถาปัตยกรรมจีน (เข้ามาผสมผสาน) เช่น วัดราชโอรสาราม วัดเทพธิดา พระตำหนักเก๋งจีน ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเครื่องที่ใช้ไม้ไม่ทนได้นาน จึงทรงเปลี่ยนเป็นถือปูน เวลานั้นช่างคนไทยที่ถือปูนได้มีน้อย ช่างจีนชำนาญกว่า ช่างจีนก็ไม่ชำนาญลวดลายไทย จึงทรงผสมผสานแบบจีนกับไทยให้กลมกลืนกันจนเรียกกันว่าเป็น “พระราชนิยม” การสร้างวัดด้วยสถาปัตยกรรม แบบพระราชนิยม” นี้ พ.อ.ม.ร.ว.ศุภวัฒน์ เกษมศรี ได้กล่าวไว้ว่า “คงจะเป็นพระบรมราโชบายที่ลึกซึ้งอยู่ด้วยทางหนึ่ง เพื่อให้ชาวจีนหันมาเลื่อมใสศรัทธาทำบุญสุนทานในพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากขึ้น ทั้งยังเกิดผลดีแก่ชาวจีนในอันที่จะลดช่องว่างทางสังคมลง” การสร้างวัดของพระองค์ท่าน ปรากฏว่าในเวลาต่อมาขุนนางและราษฎรที่มีฐานะดีทั้งไทยจีน พากันสร้างวัดโดยเสด็จพระราชกุศลอีกมากมาย เป็นผลให้เกิดผลดีทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักทางด้านศีลธรรมและยังมีผลทางด้านวัฒนธรรมและสังคมดัง ร.ศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวไว้ว่า การสร้างวัดจากพระมหากษัตริย์ก็ดี จากพวกขุนนางข้าราชการก็ดี เป็นการปรับระดับสังคมอย่างหนึ่ง ไม่ให้มีการแตกต่างกันมากจนเกินไป… ทำให้ความตึงเครียดในสังคมผ่อนคลายไป มีการสร้างสรรค์กันอยู่เรื่อย ผลที่เกิดขึ้นนั้นก็คือทำให้คนในสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรม นับว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมและการเมืองไว้อย่างมากมาย”

 

พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ และ สายไหม จบกลศึก เรียบเรียง