ด้านวรรณคดี วรรณคดีในรัชสมัยนี้เป็นวรรณคดีประเภทร้อยกรองเป็นส่วนใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ครั้งที่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์งานวรรณคดีด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้วไม่ได้ทรงพระราชนิพนธ์อีก อย่างไรก็ตามทรงสนับสนุนวรรณคดีของแผ่นดินอยู่ โดยเฉพาะวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ ในรัชกาลนี้มีวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาหลายเล่ม เช่น หนังสือที่แปลจากภาษามคธเป็นภาษาไทย เทศน์แปลพระไตรปิฎกและหนังสือเรื่องต่างๆ ที่เป็นภาษาไทย โปรดให้เขียนเก็บรักษาไว้ในหอหลวง เช่น ปัญญาสชาดก มิลินทปัญหา นอกจากนี้ ได้มีการนำเอาเรื่องชาดกมาแต่งเป็นกลอนสวดหรือกลอนวัด กวีสำคัญในรัชกาลนี้ ได้แก่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงนิพนธ์กาพย์ โคลง ฉันท์ ร่าย และลิลิต ยอดเยี่ยมหลายเรื่อง เช่น ปฐมสมโพธิกถา มหาชาติ (11 กัณฑ์) คำขวัญนาคหลวง ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา พระธรรมเทศนา พระราชพงศาวดารสังเขป กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงพระนิพนธ์คำโคลงโลกนิติ หม่อมราโชทัย เขียนนิราศลอนดอน พระมหามนตรี แต่งเรื่องระเด่นลันได และสุนทรภู่ กวีเอกแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาถึงรัชกาลนี้ก็ได้เขียนกลอนนิราศและเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่อง
การส่งเสริมวรรณคดีที่สำคัญที่สุดคือ การที่ทรงประชุมกวีในสมัยนั้น เพื่อสรรค์สร้างบทกวีและรวบรวมวรรณคดีต่างๆ จารึกไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นแบบอย่างในการศึกษาวรรณคดีแก่ผู้สนใจ ทำให้งานวรรณคดีแพร่หลาย พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ และ สายไหม จบกลศึก เรียบเรียง |