การเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยเหตุที่สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตลงโดยมิได้ตรัสมอบหมายการสืบราชสันตติวงศ์ไว้อย่างใด และยังมิได้มีพระราชนิติประเพณีกำหนดองค์ผู้สืบราชสมบัติที่แน่นอนไว้ ในกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยาและได้ชำระนำมาใช้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ระบุไว้อย่างกว้างๆ เพียงว่า “ราชกุมารที่เกิดด้วยพระอัครมเหสี เป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า ในรัชกาลที่ 2 แม้จะทรงมีพระชายาเป็นเจ้าฟ้าฯ แต่ก็มิได้ทรงแต่งตั้งเป็นทางการไว้ให้เป็นพระอัครมเหสีหรือมเหสีตำแหน่งใด ดังนั้นการเลือกผู้ดำรงราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ จึงต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดินแต่ละสาขา ครั้งนั้นจึงได้มีการอาราธนาพระสังฆราชา คณะพระบรมราชวงศ์ต่างกรมปรึกษาหารือเลือกสรรด้วย พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน ทั้งข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็มีความจงรักสวามิภักดิ์ในพระองค์ท่านก็มาก สมควรจะครอบครองสิริราชสมบัติรักษาแผ่นดินสืบพระบรมราชตระกูลต่อไป จึงพากันเข้าเฝ้าฯ เชิญเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติอาณาจักรสยามเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สืบมาแต่วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 เป็นต้นมา พระสุพรรณบัฎที่เฉลิมพระปรมาภิไธยซึ่งถวายในวันทรงรับพระบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 เหมือนที่จารึกพระปรมาภิไธยซึ่งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาลก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏถวายพระปรมาภิไธยใหม่ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมาทิวรเสฏฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามมินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสี คือ เจ้าฟ้ามงกุฎพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจุฑามณี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ทำให้ชาวต่างประเทศที่ไม่เข้าใจเรื่องราวโดยละเอียดคิดว่า ทรงชิงราชสมบัติจากพระอนุชา ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎองค์รัชทายาทกำลังทรงผนวชอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ทั้งพระองค์ก็ยังไม่พร้อมในการบริหารราชการ เนื่องจากยังไม่เคยทรงว่าราชการมาก่อนเลย ส่วนเจ้าฟ้าจุฑามณีก็ยังทรงพระเยาว์มาก อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าฟ้ามงกุฎมิได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 2 และขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 3 นับว่าเป็นผลดีแก่ประเทศไทยมาก ด้วยมีโอกาสศึกษาภาษาต่างประเทศอย่างแตกฉาน และนำมาใช้ติดต่อกับต่างประเทศในรัชสมัยได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนั้น ได้เสด็จธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ทำให้ทราบถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และภูมิประเทศของเมืองไทย อันเป็นประโยชน์ต่อการปกครองในเวลาต่อมา
พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ และ สายไหม จบกลศึก เรียบเรียง |