ReadyPlanet.com
dot
เกี่ยวกับรัชกาลที่ 3
dot
bulletพระราชประวัติ ร.3
bulletพระราชกรณียกิจก่อนเสวยราชย์
bulletการเสด็จขึ้นครองราชย์
bulletพระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง
bulletการพระศาสนา
bulletด้านเศรษฐกิจ
bulletรัชกาลที่ 3 กับเทคโนโลยีสารสนเทศ
bullet​การปราบฝิ่น  ในรัชกาลที่ 3
bulletเงินถุงแดง
bullet ​การค้าของไทยสมัยรัชกาลที่ 3
bulletมองเมืองไทยกับต่างประเทศ  สมัยรัชกาลที่ 3 โลกาภิวัตน์ยุคดั้งเดิม
bulletด้านการศึกษา
bulletด้านศิลปกรรม
bulletด้านวรรณคดี
bulletสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3
bulletตั้งเมืองในรัชสมัย
bulletทรงรักษาแผ่นดินเป็นเลิศ
bulletพระบรมราชานุสาวรีย์
bulletพระราชวิสัยทัศน์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างเอกลักษณ์ของชาติ
bulletฤษีดัดตนและการนวดแผนไทย
bulletประวัติศาสตร์หน้าเดียว พระราชกระแสก่อนสวรรคต ของ ร.3
bulletพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงมุ่งมั่นสู่พระโพธิญาณ
dot
ลิงค์แนะนำ
dot
รพ.พระนั่งเกล้า
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย




การพระศาสนา

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลายประการเพื่อการพระศาสนา

          ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในการสร้างพระพุทธรูป เมื่อสร้างแล้วทรงโปรดให้อัญเชิญไปเป็นพระประธานในวัดที่ทรงสร้าง พระพุทธรูปสำคัญที่ทรงสร้างเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ทรงเครื่องงดงาม คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เหตุที่ทรงสร้างพระพุทธรูปสององค์นี้ ก็โดยทรงพระราชดำริที่จะถวายพระนามแผ่นดินแด่สมเด็จพระอัยกาธิราช แผ่นดินที่ 1 และสมเด็จพระบรมชนกนาถแผ่นดินที่ 2

             ทรงทำนุบำรุงพระธรรมคำสั่งสอนในพุทธศาสนา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะในส่วนพระสูตร ทรงส่งเสริมสงฆ์ขยายการบอกพระปริยัติธรรมทุกพระอารามหลวง พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่พระภิกษุสามเณรซึ่งสอบนักธรรมได้ ตลอดจนทรงอุปถัมภ์โยมบิดามารดาของพระภิกษุเหล่านั้น

                                                               

                                              พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก                   พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 

          ในส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาแก่พสกนิกร โปรดให้ตั้งโรงทานเลี้ยงคนยากจนขึ้นที่ริมกำแพงพระราชวังด้านแม่น้ำ ทรงบริจาคแก่คนยากจนเป็นประจำ เมื่อถึงฤดูสำเภาออก็พระราชทานข้าวกล้องไปกับเรือสำเภาเพื่อไปให้ทานแก่คนยากจนในประเทศจีน โปรดให้ยกเลิกอากรค่าน้ำจากชาวประมงและภาษีฟองตนุจากผู้เก็บไข่จะละเม็ด เพราะไม่ทรงประสงค์จะให้ประเทศมีรายได้มาจากการทำลายล้างชีวิตสัตว์ เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพงก็ทรงแจกจ่ายและจำหน่ายข้าวราคาถูกแก่ราษฎร คราวหนึ่งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ถึงพันชั่งทำสัตสดกมหาทาน เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติก็ยิ่งทรงบำเพ็ญทานมากยิ่งขึ้น และประกาศให้ราษฎรทำบุญให้ทานด้วย ปรากฏในพงศาวดารว่า "เมื่อเดือน 7 แรม 1 ค่ำ เกิดความไข้ป่วงทั้งแผ่นดิน ไข้นั้นมาแต่ประเทศฝ่ายทะเลเป็นมาแต่เมืองฝ่ายตะวันตกมาก่อน ไข้นั้นเป็นขึ้นมาถึงกรุงเทพมหานคร เป็นขึ้นไปจนถึงเมืองฝ่ายเหนือ เสียพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าเฉลิมวงศ์องค์ 1 พระองค์เจ้าจินดาองค์ 1 พระราชธิดาพระองค์เจ้าพวงแก้วองค์ 1 เสนาบดีเจ้าพระยาบดินทร์เดชา 1 จึงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงศีล แล้วให้เจ้าพนักงานซื้อสัตว์ที่จะต้องถึงมรณภัย แล้วปล่อยให้รอดชีวิตทุกวัน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ป่าวร้องราษฎรทำบุญให้ทานปล่อยสัตว์ที่อยู่ในกักขังให้รอดจากความตาย แล้วให้เป็นอยู่ในความเมตตากรุณาต่อกัน”

             โดยปกติแล้วพระองค์ทรงบาตรทุกวัน และทรงประกอบพระราชกุศลในพระราชพิธีต่างๆ เป็นประจำ เช่น การถวายผ้ากฐินพระราชทาน 

               ในรัชกาลนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงตั้งธรรมยุตนิกายขึ้น เพื่อปรับปรุงวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งนี้มาตลอดรัชกาลที่ 3

             เรื่องที่พระสงฆ์นิกายธรรมยุตกระทำเป็นผลดีแก่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย คือ การสังคายนาพระคัมภีร์ฝ่ายหินยานให้ถูกต้องตามพระคัมภีร์เดิมโดยมีการสอบทานกับต้นฉบับ แต่โดยที่การสอบทานต้นฉบับจำเป็นจะต้องศึกษาภาษาบาลีให้ถ่องแท้ด้วย จึงได้มีการสอนภาษาบาลีขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหารอย่างจริงจัง

                การติดต่อระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์ลังกาได้มีขึ้นด้วย เนื่องจากใน พ.ศ. 2383 ได้มีพระสงฆ์ลังกา 5 รูป เข้ามาดูกิจการพระศาสนาในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทรงเห็นว่าพระสงฆ์ลังกาคณะนั้นมีพระวินัยเคร่งครัดแบบธรรมยุต จึงโปรดให้พำนักที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพระสงฆ์ลังกาเดินทางกลับใน พ.ศ. 2385 ทรงเห็นชอบด้วยกับเจ้าฟ้ามงกุฎในการส่งพระสงฆ์ธรรมยุต 5 รูปเดินทางไปลังกา และได้ยืมหนังสือพระไตรปิฎกฉบับที่ยังขาดอยู่จากลังกากลับมาเพื่อคัดลอกไว้สำหรับแผ่นดิน โดยให้ไปกับกำปั่นหลวงชื่อ จินดาดวงแก้ว ซึ่งไปจำหน่ายสินค้า พระสมณทูตคณะนั้นกลับมาในปีรุ่งขึ้นพร้อมกับได้นำพระไตรปิฎก 40 เล่มมาด้วย ปีรุ่งขึ้นพระสมณทูตไทยอีกคณะหนึ่งได้เดินทางนำพระไตรปิฎกที่ยืมมาไปส่งคืนที่ลังกา ขากลับพระสงฆ์และสามเณรลังกาติดตามมาด้วย และนำพระไตรปิฎกที่เหลืออีก 30 เล่ม มาให้ยืมต่อ การศึกษาพระพุทธศาสนาในรัชกาลนี้ จึงมีการค้นคว้าเปรียบเทียบหลักฐานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์ลังกา

          ความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาที่มีมากอย่างเด่นชัดในรัชกาลนี้ ได้แก่การสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม เนื่องจากวัดมีความผูกพันกับชีวิตจิตใจของคนไทยมาก การศึกษาศีลธรรมจรรยาและศิลปะวิทยาการต่างๆ ล้วนอยู่ในวัด

          วัดจึงเป็นโรงเรียนและพระสงฆ์เป็นครูบาอาจารย์ การสร้างและบำรุงวัดจึงเป็นการสร้างโรงเรียนและบำรุงการศึกษาของประชาชนโดยตรง วัดยังเป็นศูนย์กลางแห่งสังคมของชาวบ้านด้วย นอกจากจะทรงสนับสนุนให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสร้างวัดและพระองค์เองได้โปรดให้สร้างวัดใหญ่ๆ ขึ้นอีก ได้แก่

               วัดเฉลิมพระเกียรติ ที่จังหวัดนนทบุรี ทรงอุทิศพระราชทานพระชนกและพระชนนีของพระราชมารดา ซึ่งมีเคหสถานอยู่ที่นั่น

วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี

 

               วัดเทพธิดาราม สร้างพระราชทานเป็นพระเกียรติยศพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งทรงร่วมบริจาคด้วย

วัดเทพธิดาราม

 

              วัดราชนัดดาราม สร้างพระราชทานเป็นพระเกียรติยศพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ภายในวัดราชนัดดารมโปรดให้สร้าง โลหะปราสาท” ตามแบบถาวรวัตถุในลังกาด้วย

                                              

                                                      โลหะปราสาท                        พระอุโบสถ : วัดราชนัดดาราม

 

               นอกจากนี้ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งภายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกว่า 30 แห่ง เช่น

           วัดราชโอรส ซึ่งเดิมชื่อวัดจอมทอง เป็นวัดโบราณ มีตำนานเล่าว่า ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่ทัพยกทัพไปขัดตาทัพข้าศึกที่เมืองกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2363 ได้เสด็จประทับแรมหน้าวัดและทรงอธิษฐานไว้เมื่อเสร็จราชการกลับมาโดยสวัสดิภาพ จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง รัชกาลที่ 2 พระราชทานนามว่า วัดราชโอรส

วัดราชโอรส

พระปรางค์ : วัดอรุณราชวราราม

             วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 1 มาถึงรัชกาลที่ 3 ชำรุดทรุดโทรมจึงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม

            วัดอรุณราชวราราม สร้างขึ้นแล้วบางส่วนในรัชกาลที่ 2 ในรัชกาลนี้ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างเพิ่มเติม ที่สำคัญคือการสร้างพระปรางค์สูงเด่นเป็นสง่ามาจนถึงทุกวันนี้

                วัดยานนาวา เป็นวัดโบราณอีกวัดหนึ่ง เดิมชื่อ "วัดคอกกระบือ หรือวัดคอกควาย" เมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามแล้วมีพระราชปรารภว่า แต่ก่อนเรือที่ใช้ไปมาค้าขายกับต่างประเทศใช้สำเภาเป็นส่วนมาก ต่อมาได้มีการต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง สำเภาจีนคงจะสูญไป นานไปจะไม่มีผู้รู้จัก เมื่อทรงดำริหาแบบพระเจดีย์ ก็ได้ทรงรำลึกถึงการบำเพ็ญบารมีธรรมในพระเวสสันดรชาดก ซึ่งอุปมากับสำเภายานนาวา จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์มีฐานเป็นสำเภาเท่าขนาดเรือสำเภาจริงไว้ ต่อไปภายหน้าผู้ใดอยากเห็นว่าเรือสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดู แล้วขนานนามพระอารามใหม่ว่า "วัดยานนาวา" แปลว่า ญานอันเป็นพาหนะดุจดั่งสำเภาข้ามโอฆะสงสาร ซึ่งตั้งขึ้นตามความหมายเรื่อง "พระเวชสันดร ตอนตรัสกับกัณหาและชาลี" ในคำเทศนามหาชาติ และได้ทรงสร้างรูปหล่อสัมฤทธิ์พระเวสสันดร กัณหาและชาลี ไว้ในเรือสำเภาเป็นเครื่องยืนยันวัดยานนาวาอย่างชัดเจน

สำเภาเจดีย์ : วัดยานนาวา

                                               ขอบคุณ ภาพจาก https://www.facebook.com/วัดยานนาวา-พระอารามหลวง
 

            วัดพระเชตุพนาวิมลมังคลาราม เป็นอีกวัดหนึ่งที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์แล้วจารึกตำรับตำราวิชาการต่างๆ ให้ราษฎรที่สนใจได้มาศึกษา นับเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย ที่มีคุณค่าทั้งในทางศาสนาและการศึกษา

                                     

                                ตำรานวดแผนไทย                                         ท่าฤาษีดัดตน

 

พระพุทธไสยาสน์

              วัดสระเกศ เดิมเป็นวัดโบราณรัชกาลที่ 1 ได้ทรงสถาปนา มาในรัชกาลนี้ โปรดให้สร้างพระวิหารประดิษฐานพระอัฏฐารสสูง 28 ศอก 4 นิ้ว ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก กับสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่แต่ไม่ทันเสร็จ สิ้นรัชกาลเสียก่อนรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างต่อจนสำเร็จแล้วพระราชทานนามว่า “บรมบรรพต” ซึ่งคนทั่วไปเรียก “ภูเขาทอง
 

                วัดอื่นๆ ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์มีอีกมากมาย เช่น วัดราชสิทธาราม วัดศาลาปูน วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดสุวรรณดาราราม วัดสังข์กระจาย และวัดคงคาราม เป็นต้น

                  นอกจากนี้ ได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองมาประดิษฐานในวัดที่กรุงเทพฯ และสร้างพระพุทธรูปใหม่อีกหลายองค์ “นายมี มหาดเล็ก” เขียนกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติรัชกาลที่ 3 บรรยายเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปในรัชกาลนี้ไว้ว่า

                        “ที่โรงหล่อต่อแต่งพระพุทธรูป           ที่เศร้าซูบมัวหมองไม่ผ่องศรี

                   พระบุราณบ้านเก่าคราวกลี                     ตกอยู่ที่เมืองร้างวัดดั้งเดิม

                   ถูกแดดลมจมน้ำล้วนชำรุด                     ไปขนขุดบูรณะเฉลิมเสริม

                  ที่ด่างพร้อยร่อยหรอก็ต่อเติม                   ระพักตร์เจิมจุนพระศอต่อพระกร

                 พระนาภีพระนลาฎพระบาทหัตถ์               ที่วิบัติมาบูรณปฏิสังขรณ์

                 พระประธานพระไสยาสน์ลีลาศจร             ออกซับซ้อนน้อยใหญ่อยู่ในโรง”

 

พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ และ สายไหม จบกลศึก เรียบเรียง