ประวัติการก่อตั้งมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระอุปถัมภ์
มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนามพระราชทาน ดวงตรามูลนิธิเป็นรูป
พระวิมานเนื่องตามพระราชลัญจกร กำเนิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลชุดพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลครบ 200 ปี วันพระบรมราชสมภพ พุทธศักราช 2530 การเฉลิมพระเกียรติได้กำหนดแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสร้างสิ่งอนุสรณ์ คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก

คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการฝ่ายพระราชพิธี ได้มีการสร้าง
พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ บริเวณลานมหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนิน จัดพิมพ์หนังสือที่สำคัญในรัชสมัย
และบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

อนุสนธิจากงานเฉลิมพระเกียรตินี้ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ
มีความเห็นว่า พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคุณอเนกอนันต์ต่อชาวไทยสืบมาถึงปัจจุบัน เห็นควรให้กรมศิลปากรก่อตั้งมูลนิธิฯ เพื่อดำเนินการเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดทั้งวัตถุสถานต่าง ๆ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงสร้างขึ้นไว้ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้เยาวชนไทยได้รู้จักแพร่หลายและตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณ จะได้ร่วมช่วยกันปกปักษ์รักษามรดกวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้ ให้ดำรงอยู่คู่บ้านเมืองสืบต่อไป
การก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจาก ราชสกุล ราชินีกุล และสายสัมพันธ์ ร่วมกันหาทุนก่อตั้งเป็นเบื้องต้น โดย หม่อมราชวงศ์ แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้เป็นหลักสำคัญประสานกับทุกฝ่ายผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้น คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มอบให้กองทัพบก จัดแสดงละครเรื่องเจ้าพระยาบดินทรเดชาทหารเสือพระนั่งเกล้า จัดพิมพ์หนังสือพระมหาเจษฎาบดินทร์ และจัดทำถุงแดงออกจำหน่าย สามารถจดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิสำเร็จเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2536 ด้วยทุนประเดิม 500,000 บาท โดยอธิบดีกรมศิลปากร (นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ) ทำหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิฯ ตามตำแหน่ง ประกอบด้วย คณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 25 คน
องค์อุปถัมภ์
เมื่อพุทธศักราช 2544 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส -
ราชนครินทร์ ทรงพระกรุณารับกิจกรรมของมูลนิธิไว้ในพระอุปถัมภ์
